ความสำเร็จของการบริหารงาน HONDA MOTOR-ตอนที่ 9.4 โดยการนำของคาวะชิมะ


The Man, The Management, The Machines.

เทตซึโอะ ซากิยะ เขียน

ธนิต ธรรมสุคติ แปล จากต้นฉบับ Updated paperback Edition 1987

สงวนลิขสิทธิ์

โซอิจิโร ฮอนด้า

ปูชนียบุคคลที่โลกยานยนต์ต้องจารึก

อัจฉริยบุคคลผู้ก่อตั้ง...และวางรากฐานความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ให้กับ "บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด" เป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับเกียรติยศอันสูงส่ง ให้เป็นสมาชิกทำเนียบ "ปูชนียบุคคลยานยนต์โลก" (AUTOMOTIVE HALL OF FAME) อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2532

ระบบค่าจ้างของญี่ปุ่น

อัตราค่าจ้างในวงการอุตสาหกรรมญี่ปุ่นนั้น สูงกว่าในประเทศยุโรปตะวันตกแล้วและขณะนี้อยู่ในระดับเดียวกับของสหรัฐยกเว้นในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมเหล็ก ระบบค่าจ้างของญี่ปุ่นแตกต่างจากของประเทศตะวัตกในหลาย ๆ จุด จุดหนึ่งก็คือความสัมพันธ์ระหว่างความอาวุโสและความสามารถ เมื่อพนักงานคนหนึ่งอายุมากขึ้นและความสามารถในการทำงานก็เริ่มถดถอยลง ค่าจ้างของเขาก็ยังไม่ลดลง พูดโดยทั่ว ๆ ไปแล้วนี่หมายความว่าพนักงานอายุมากจะได้รับค่าจ้างที่สูง นี่เป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งลูกจ้างชาวญี่ปุ่นชอบที่จะทำงานกับบริษัทเดียวตลอดชีวิตมากกว่า

ความแตกต่างอีกอย่างคือจนกระทั่งเมื่อ 40 ปีที่แล้ว พนักงานที่เข้าทำงานพร้อมกันจะได้รับค่าจ้างเกือบจะเท่ากัน

แม้แต่ผู้ที่มาจากมหาวิทยาลัยชั้นยอดเพื่อเป็นผู้บริหารบริษัทในอนาคตก็ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนเป็นพิเศษแต่อย่างใด นายจ้างจะติดตามดูเป็นเวลายาวนานว่าพนักงานเหล่านี้จะมีความสามารถรับตำแหน่งสำคัญ ๆ ได้หรือไม่

ระบบค่าจ้างที่ฮอนด้า มอเตอร์นั้นก็ขึ้นอยู่กับหลักการนี้ โครงสร้างอย่างเดียวกันใช้ได้กับพนักงานในสำนักงานและพนักงานในโรงงานอย่างเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ค่าจ้างทั้งหมดจะถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ เงินเดือน เงินโบนัสทุกสองปี และเงินสำหรับการเกษียณ

เงินเดือนประกอบด้วยค่าจ้างพื้นฐาน (คือค่าจ้างประจำบวกกับค่าจ้างพิเศษ) และเงินพิเศษ ในระบบค่าจ้างขั้นพื้นฐานนั้นแบ่งออกเป็น่เจ็ดขั้น ขั้นที่ 1 พนักงานทั่วไประดับต่ำ ขั้นที่ 2 พนักงานทั่วไป ขั้นที่ 3 พนักงานทั่วไประดับอาวุโส ขั้นที่ 4 โฟร์แมน ขั้นที่ 5 ผู้ช่วยผู้จัดการ ขั้นที่ 6 ผู้จัดการ ขั้นที่ 7 ผู้จัดการทั่วไป การประเมินและการเลื่อนขั้นของพนักงานในอันดับต่าง ๆ มีการทำทุกเดือนเมษายน ยังมีค่าจ้างพิเศษอีก 4 ประเภท ซึ่งมีการพิจารณาตามผลงานของพนักงานตลอดปีที่ผ่านมาไม่ว่าพนักงานผู้นั้นจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจ จะเป็นคนคุมพนักงานคนอื่นหรือไม่ และในเรื่องผลงานของบริษัททั้งหมดด้วย

เงินพิเศษเป็นเงินจ่ายให้สำหรับผู้ที่ไม่มีการขาดงานหรือการบริหารกึ่งการไม่ขาดงาน การทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด การทำงานผลัดกลางคืน การช่วยเหลือพิเศษ ค่าที่พักและการเดินทาง พนักงานที่อยู่ในเขตอากาศหนาวของญี่ปุ่นจะได้รับเงินพิเศษช่วยค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องทำความอุ่น

ระดับเงินเดือนของฮอนด้า

ระดับเงินเดือนโดยเฉลี่ยที่ฮอนด้า มอเตอร์ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1982 เป็นดังนี้ (1 เยนเท่ากับ 10 สตางค์)

จำนวนพนักงานทั้งหมด 24,694 คน อายุโดยเฉลี่ย 30.3 ปี ระยะเวลาทำงาานโดยเฉลี่ย 9.3 ปี ค่าจ้างขั้นพื้นฐาน 177,708 เยน เงินพิเศษ 34,282 เยน รวมเป็นเงินเดือน 211,990 เยน

จำนวนพนักงานชาย 23,099 คน อายุโดยเฉลี่ย 30.8 ปี ทำงานมานานโดยเฉลี่ย 9.7 ปี โดยมีเงินเดือนขั้นพื้นฐาน 182,432 เยน เงินพิเศษ 35,567 เยน รวมเป็นเงินเดือนทั้งสิ้นเดือนละ 217,999 เยน

จำนวนพนักงานหญิง 1,865 คน อายุโดยเฉลี่ย 24.8 ปี ทำงานมานาน 4 ปี ได้ค่าจ้างขั้นพื้นฐาน 119,214 เยน เงินพิเศษ 18,346 เยน รวมเป็นเงินเดือนทั้งสิ้นเดือนละ 137,560 เยน

ค่าจ้างขั้นต้นเริ่มแต่เดือนเมษายน 1982 เป็นดังนี้ ผู้จบปริญญาตรี 131,200 เยน ผู้จบปริญญาโท 145,000 เยน ผู้จบปริญญาเอก 157,700 เยน และผู้จบจากวิทยาลัยอาชีวะ 119,400 เยน ไม่มีการแบ่งว่าใครจบจากมหาวิทยาลัยชั้นยอดหรือชั้นธรรมดา เงินโบนัสจ่ายทุกเดือนกรกฎาคมและเดือนธันวาคม เงินโบนัสโดยเฉลี่ยในปี 1982 เท่ากับ 1.06 ล้านเยนซึ่งเท่ากับ 4.9 เท่าของเงินเดือน

พนักงานที่ฮอนด้า มอเตอร์จะเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี แต่ถ้าพนักงานต้องการทำงานต่อไปก็สามารถอยู่ได้จนอายุ 60 โดยจะได้รับเงินเดือนและโบนัสน้อยลง แต่จะไม่ได้ตำแหน่งบริหาร เมื่อเกษียณแล้ว พนักงานจะได้รับเงินก้อนหนึ่ง ในกรณีที่เขาต้องการออกจากบรษัทโดยด่วน เงินก้อนนี้จะจ่ายให้ตามเงินเดือนที่ได้รับอยู่

แม้ว่าเงินค่าจ้างจะแตกต่างกันเล็กน้อย ระหว่างผู้ที่เข้าทำงานกับบริษัทในเวลาเดียวกัน แต่เมื่อถึงการเกษียณค่าจ้างและเงินก้อนสำหรับการเกษียณจะต่างกันมากตามความสามารถและผลงานที่พนักงานผู้นั้นทำให้กับบริษัท

ข้อมูลเกี่ยวกับเงินก้อนเกษียณอายุนั้น บริษัทญี่ปุ่นไม่เปิดเผย แต่ตามสถิติที่จัดพิมพ์ในปี 1980 โดยสมาคมผู้จัดการแห่งเขตคานโตะนั้น เงินโดยเฉลี่ยที่จ่ายให้แก่ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยและเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี โดยทำงานมา 32 ปีนั้นเท่ากับเงินเดือนขั้นพื้นฐาน 39 เดือน (ประมาณ 18 ล้านเยน) สำหรับบริษัทที่มีพนักงานกว่า 500 คน

เวลาของการทำงาน

โรงงานของฮอนด้า มอเตอร์ใช้ระบบการทำงานสัปดาห์ละ 5 วันทุกสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ในปี 1965 และในปี 1972 ขยายมาเป็นทุกสัปดาห์ แผนกประกอบรถปัจจุบันนี้หยุดทุกเสาร์และอาทิตย์ ที่โรงงานซายะมะทำงานกันสามกะ ๆ ละ 8 ชั่วโมง กะแรกตั้งแต่ 7.00 น. ถึง 15.45 น. กะที่สอง 15.35 น. ถึง 24.00 น. และกะที่สาม 23.55 น. ถึง 8.10 น. แต่ละกะมีเวลาหยุดพัก 45 นาที ส่วนกะที่สองมีเวลาหยุดพิเศษ (คอฟฟี่เบรค) 2 ครั้ง ๆ ละ 15 นาทีและกะที่สามมีเวลาคอฟฟี่เบรค 2 ครั้ง ๆ ละ 10 นาที

ฮอนด้า มอเตอร์ให้พนักงานหยุดพักได้ปีละ 117 วัน (รวมทั้งวันเสาร์และอาทิตย์) โดยได้รับเงินค่าจ้างอยู่ คนที่ทำงานกับบริษัทติดต่อกันมา 5 ปีจะได้รับวันหยุดอีก 5 วันและผู้ที่ทำงานมากกว่า 10 ปีจะได้วันหยุดอีก 9 วัน (วันหยุดนี้สามารถเปลี่ยนเป็นวันลาป่วยระยะสั้นได้) สำหรับการแต่งงานและงานศพของครอบครัว ก็มีวันหยุดให้ พนักงานหญิงลาคลอดได้ 42 วันก่อนและหลังการคลอดและพนักงานชายลาได้ 3 วันเพื่อไปอยู่กับภรรยาที่โรงพยาบาล ถ้าพนักงานคนใดพิการจากอุบัติเหตุในการทำงาน จะได้รับเงินเดือนขั้นพื้นฐานและเงินโบนัสไปจนกระทั่งถึงเกษียณ

ใช้หุ่นแทนคน

ในญี่ปุ่นหุ่นยนต์ในแผนกการผลิตกำลังเป็นที่นิยมมาก สมุดปกขาวเกี่ยวกับการค้าระหว่างชาติของ MITI รายงานว่าญี่ปุ่นมีหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 14,000 ตัว สหรัฐมี 3,255 ตัว เยอรมันตะวันตก 850 ตัว และอังกฤษ 185 ตัว ทั้งนี้นับถึงเดือนมีนาคม 1979 หุ่นยนต์อุตสาหกรรมมีส่วนช่วยอย่างใหญ่หลวงในการเพิ่มประสิทธิภาพของกำลังคนและในเรื่องคุณภาพสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตในญี่ปุ่น ความนิยมใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมนั้นมีผลมาจากทีท่าของสหภาพแรงงานภายในบริษัทเอง

ในเมื่อมีความร่วมมือกันเป็นอย่างดีระหว่างฝ่ายบริหารและลูกจ้าง การใช้หุ่นยนต์เข้าทำงานจึงเป็นไปอย่างราบรื่นโดยการนำความรู้รวมในบริษัทมาใช้ ประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตจึงดีขึ้นมาก อย่างไรก็ตามก็ยังเร็วเกินไปที่จะทำนายว่าการใช้หุ่นยนต์อย่างกว้างขวางจะมีผลต่อปัญหาการทำงานในอนาคตหรือไม่

ที่ฮอนด้า มอเตอร์ งานนั้นแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือกลุ่มที่เหมาะกับพนักงานชาย กลุ่มที่เหมาะกับพนักงานชายและหุ่นยนต์ และกลุ่มที่เหมาะเฉพาะกับหุ่นยนต์ สองกลุ่มหลังนี้ขณะนี้หันไปใช้แต่หุ่นยนต์อย่างเดียว การเชื่อมโลหะอันเป็นงานที่หนักที่สุดสำหรับคนงานก็ให้เป็นงานของหุ่นยนต์ไปแล้ว ถึงฤดูร้อนปี 1981 การผลิตตัวถังรถยนต์ก็ทำโดยเครื่องอัตโนมัติมากถึง 65 เปอร์เซ็นต์และฮอนด้า มอเตอร์ขณะนี้ก็กำลังใช้การประกอบรถโดยเครื่องมืออัตโนมัติ แต่บริษัทไม่มีแผนจะดำเนินงานทุกขั้นตอนโดยเครื่องอัตโนมัติเพราะยังเข้าใจดีถึงความสำคัญของการมอบหมายงานที่เหมาะสมให้คนงานของตนทำ เป็นการเร่งเร้าให้มีการฝึกผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น

ตอนที่ 9.3 โดยการนำของคาวะชิมะ

Recent posts

error: Content is protected !!