The Man, The Management, The Machines.
เทตซึโอะ ซากิยะ เขียน
ธนิต ธรรมสุคติ แปล จากต้นฉบับ Updated paperback Edition 1987
สงวนลิขสิทธิ์
โซอิจิโร ฮอนด้า
ปูชนียบุคคลที่โลกยานยนต์ต้องจารึก
อัจฉริยบุคคลผู้ก่อตั้ง...และวางรากฐานความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ให้กับ "บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด" เป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับเกียรติยศอันสูงส่ง ให้เป็นสมาชิกทำเนียบ "ปูชนียบุคคลยานยนต์โลก" (AUTOMOTIVE HALL OF FAME) อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2532
ให้โอกาสร่วมคิด
ฮอนด้า มอเตอร์นำระบบยืดหยุ่นต่าง ๆ มาใช้ ซึ่งอนุญาตให้คนงานเสนอแนะการปรับปรุงทางวิชาการและการหมุนเวียนงาน ตัวอย่างเช่น วิศวกรหนุ่มสามคนได้รับสิทธิบัตรสำหรับการกำจัดอากาศจากท่อน้ำมันห้ามล้อ ถ้าอากาศอยู่ในท่อ ห้ามล้อจะทำงานได้ไม่มีประสิทธิผลและจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ โดยเทคนิคที่ได้รับสิทธิบัตรใหม่นี้ สามารถกำจัดอากาศออกไปโดยเร็วและกระบวนการนี้สามารถปรับเข้ากับความเร็วของสายพานส่งชิ้นส่วนประกอบ
สำหรับการประดิษฐ์นี้ วิศวกรแต่ละคนได้รับเงินโบนัสพิเศษ 320,000 เยน ประมาณ 1,500 ดอลลาร์ การคิดอะไรใหม่ ๆ ได้เช่นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน แต่ที่ฮอนด้า มอเตอร์มีข้อเสนอแนะกว่า 300,000 ข้อในปี 1981 และประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของข้อเสนอแนะนี้ได้รับการนำไปใช้
สำหรับการประดิษฐ์คิดค้นที่สำคัญ ๆ จะมีรางวัลให้ในรูปของเงินโบนัสหรือเงินทุนสำหรับการไปศึกษาต่อในต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่แล้วรางวัลจะมีมูลค่าเพียงเล็กน้อย สำหรับผู้ที่มีข้อเสนอแนะก็พอใจที่บริษัทจะมีกำไรมากขึ้นเพราะต่างก็หวังจะได้รับเงินโบนัสมากขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ที่โรงงานต่าง ๆ ของฮอนด้า มอเตอร์พนักงานมักจะแบ่งออกเป็นกอง เช่น กองประกอบตัวถัง กองเครื่องยนต์ กองเชื่อม กองเคมี กองควบคุมคุณภาพ และอื่น ๆ หัวหน้ากองจะมีพนักงานในความดูแลประมาณ 200 คน ก็จะมีตำแหน่งผู้จัดการแต่ไม่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน รองเขาลงไปจะเป็นผู้ช่วยผู้จัดการอีกสามหรือสี่คน แต่ละคนรับผิดชอบพนักงานประมาณ 50 คน รองลงไปจากผู้ช่วยผู้จัดการก็คือ โฟร์แมน มีลูกน้อง 10 ถึง 20 คน ผู้ช่วยผู้จัดการและโฟร์แมนมักจะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ผู้จัดการจะศึกษาข้อเสนอต่าง ๆ อย่างรอบคอบและโยกย้ายคนงานให้ทันทีที่ทำได้ตามความต้องการของคนงาน ดังนั้นพนักงานจะสดชื่นและเปิดเผยในงานของตนทุกวัน
ให้พนักงานคุมคุณภาพ
ในญี่ปุ่น วงจรควบคุมคุณภาพ (ที่เรียกกันย่อ ๆ ว่าคิวซี) นั้นเป็นที่นิยมมากตามโรงงาน วงจรคิวซีนี้จดทะเบียนที่สหภาพนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 1979 เป็นจำนวนถึง 103,644 วงจร (จาก 3,146 บริษัทที่มีคนงานรวม 980,000 คน) แต่คาดคะเนกันว่าที่ยังไม่มาจดทะเบียนนั้นมีมากกว่านี้ห้าหรือหกเท่า
ที่ฮอนด้า มอเตอร์นั้น วงจร NH (เทียบเท่ากับคิวซี) บริษัทไม่ได้เป็นผู้จัดการเอง พนักงานต่างหากที่จัดทำขึ้นระหว่างเวลาว่าง ในสหรัฐและยุโรปนั้น วงจรคิวซีมักจะเกี่ยวพันกับระบบเงินตอบแทน แต่ในญี่ปุ่นไม่ค่อยจะมีกรณีเช่นนี้ วงจร NH เสนอและอภิปรายกันเรื่องต่าง ๆ แต่มีผลมากที่สุดในด้านการคิดค้นวิธีการใหม่สำหรับการผลิตและการปรับปรุงชีวิตการทำงานให้ดีขึ้น ที่โรงงานซุสุกะ วงจรหนึ่งชื่อ คุนตะ คินเตะ ศึกษาภาษาเครื่องหมายเป็นเวลาหกเดือน จนสามารถนำภาษานี้มาใช้ได้ดีขึ้นสำหรับคนงานที่หูหนวกและเป็นใบ้ วงจร NH ทำหน้าที่เป็นชุมชนเล็ก ๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่พนักงาน วงจร NH ทั้งหมดจะพบกันปีละครั้ง เพื่อรายงานและพูดกันถึงกิจกรรมของตน
ระหว่างเวลาที่ผ่านไปไม่กี่ปีนี้วงจรนี้ยังรับผู้แทนจากโรงงานฮอนด้า มอเตอร์ในต่างประเทศด้วย บริษัทยังมีงานอีกงานชื่อว่า "การประกวดความคิด" จัดให้มีขึ้นทุก 18 เดือนด้วยการสนับสนุนจากสมาคมการสันทนาการของพนักงาน พนักงานต่าง ๆ สามารถสร้างอุปกรณ์ของโรงงานได้และได้รับเงินอุดหนุนมากถึง 400,000 เยน (ประมาณ 2,000 ดอลลาร์) เพื่อสร้างเครื่องยนต์ที่ตนคิดค้นขึ้นมา งานนี้เริ่มมีครั้งแรกในปี 1970
การให้กำลังใจพนักงาน
ฮอนด้า มอเตอร์ยังมีระบบยอดเยี่ยมต่าง ๆ อีกเพื่อให้กำลังใจแก่พนักงาน แผนถือหุ้นร่วมมีขึ้นในปี 1970 แผนฝากเงินกับบริษัทเริ่มขึ้นในปี 1954 โดยให้ดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารเล็กน้อย และแผนนี้ช่วยบริษัทในการหาเงินมาดำเนินการ ในปี 1981 พนักงาน 80 เปอร์เซ็นต์มีบัญชีกับแผนนี้และมียอดเงินฝาก 350,000 เยน (ประมาณ 1,500 ดอลลาร์) ระบบการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการซื้อบ้านพักอาศัยนั้นริเริ่มโดยพนักงานเองในปี 1955 และโครงการประกันชีวิตเริ่มต้นในปี 1962 ฮอนด้า มอเตอร์ยังมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ อีก เช่น โรงอาหาร อพาร์ทเมนท์ หอพักของบริษัท และบังกะโล สำหรับพนักงานไปพักผ่อน ที่โรงงานส่วนใหญ่จะมีสนามกีฬา โรงยิม สระว่ายน้ำ อุปกรณ์การออกกำลังกาย ห้องสมุด ห้องทำงาน และห้องงานอดิเรก และบางโรงงานยังมีสนามแข่งรถที่พนักงานสามารถสนุกกับการทดสอบจักรยานยนต์ของตนหลังเลิกงานแล้ว
ประสบการณ์ที่ได้รับในญี่ปุ่นจะถูกนำไปใช้อย่างระมัดระวังที่โรงงานจักรยานยนต์ในรัฐโอไฮโอ ฮอนด้า มอเตอร์ไม่เชื่อว่าโครงการของพนักงานทุกโครงการและกระบวนการผลิตทุกกระบวนการที่ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นจะใช้อย่างได้ผลในประเทศอื่น วิธีการบริหารของฮอนด้า มอเตอร์แตกต่างกันไปตามความต้องการพิเศษของแต่ละสังคมและวัฒนธรรม
หลายคนเชื่อว่าคุณภาพแรงงานของอเมริกันนั้นต่ำ เจ้าหน้าที่ของฮอนด้า มอเตอร์ไม่เห็นด้วยพร้อมทั้งกล่าวว่า "ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คุณภาพของแรงงาน แต่อยู่ที่คุณภาพของการบริหาร" ฮอนด้า มอเตอร์ยิ่งเชื่อหนักขึ้นในการวิเคราะห์นี้เมื่อประเมินความสำเร็จของจักรยานยนต์ GL-1100 สมรรถนะสูง รถรุ่นนี้ใช้เครื่อง 1,100 ซีซี. ระบายความร้อนด้วยน้ำผลิตที่โรงงานในโอไฮโอและส่งออกขายใน 24 ประเทศในยุโรปและในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก รถรุ่นนี้ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าผู้ไม่ชอบอะไรนอกจากสิ่งที่ดีที่สุดในเครื่องยนต์สมรรถนะสูงเช่นนั้น
ขณะที่ยุทธวิธีตลาดโลกของฮอนด้า มอเตอร์ก้าวหน้าไป บริษัทก็เริ่มทบทวนโครงสร้างองค์กรของฝ่ายบริหารระดับสูงของตน ความคิดขั้นพื้นฐานได้รับการพัฒนาโดยประธานบริษัทและรองประธาน โครงสร้างองค์กรก็เช่นกัน และกรรมการบริหารต่างก็ได้รับมอบหมายงานเฉพาะอย่างไปปฏิบัติ ฝ่ายบริหารระดับสุดยอดของฮอนด้า มอเตอร์จึงยืดหยุ่นได้มาก
ในเดือนมิถุนายน 1979 กองปฏิบัติการพิเศษ ประจำภาคซึ่งประกอบด้วยกรรมการบริหารหลายคนได้รับการจัดตั้งขึ้น และมีหน้าที่จัดทำยุทธวิธีการตลาดอย่างละเอียดของแต่ละพื้นที่ มีกลุ่มเช่นนี้อยู่สี่กลุ่ม-สำหรับญี่ปุ่น อเมริกาเหนือ ยุโรปและโอเชียเนีย และประเทศกำลังพัฒนา แต่ละกลุ่มมีผู้จัดการอาวุโสเป็นหัวหน้า ร่วมกับคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญสามคณะในเรื่องบุคลากร อุปกรณ์และการเงิน ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นก่อนแล้ว การตั้งกองปฏิบัติการพิเศษหมายถึงการสร้างความสมบูรณ์ครอบคลุมขอบข่ายการปฏิบัติงานทั้งหมดของบริษัททั้งในแนวตั้งและแนวนอน