The Man, The Management, The Machines.
เทตซึโอะ ซากิยะ เขียน
ธนิต ธรรมสุคติ แปล จากต้นฉบับ Updated paperback Edition 1987
สงวนลิขสิทธิ์
โซอิจิโร ฮอนด้า
ปูชนียบุคคลที่โลกยานยนต์ต้องจารึก
อัจฉริยบุคคลผู้ก่อตั้ง...และวางรากฐานความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ให้กับ "บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด" เป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับเกียรติยศอันสูงส่ง ให้เป็นสมาชิกทำเนียบ "ปูชนียบุคคลยานยนต์โลก" (AUTOMOTIVE HALL OF FAME) อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2532
ระบบงานแบบญี่ปุ่น
ในการประเมินแนวโน้มนี้ นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่าระบบการบริหารแบบญี่ปุ่นที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงนั้นเป็นภาพลวงตาและสิ่งที่เรียกว่าการเกี่ยวพันทันทีโดยคนงานนั้นก็เป็นแต่เพียงผลของการบังคับบัญชาโดยฝ่ายบริหารและความกดดันจากกลุ่มโดยเพื่อนร่วมงาน ในทัศนะของนักวิจารณ์เหล่านี้ การบริหารแบบนี้เป็นสิ่งที่แปลกสำหรับญี่ปุ่นและจะไม่มีวันใช้ได้กับประเทศอื่น ๆ
แต่ก็มีหลักฐานมากมายว่าไม่ใช่เป็นดังที่นักวิจารณ์เหล่านั้นว่า ไอบีเอ็ม เท็กซัสอินสตรูเมนต์ ซีรอกซ์ และบริษัทอื่น ๆ ก็ทำธุรกิจอย่างมีความสำเร็จยิ่งในญี่ปุ่น โดยการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงของอเมริกันและการบริหารแบบญี่ปุ่นมาบริหารคนงานญี่ปุ่น ในสหรัฐเองมีกว่า 200 บริษัทที่ใช้วงจรคิวซี ซึ่งช่วยเสริมสร้างขวัญของคนงานและทำให้เกิดการปรับปรุงเรื่องคุณภาพ
ที่โรงงานรัฐโอไฮโอของฮอนด้า มอเตอร์ ความคิดเห็นทางการบริหารแบบญี่ปุ่นบางอย่างกำลังถูกใช้อยู่ ตัวอย่างเช่น ระบบการเสนอให้ปรับปรุงทางวิชาการนั้นประสบความสำเร็จมาก คนงานคนหนึ่งที่โรงงานกล่าวว่า "คนอเมริกันสามารถมีความคิดดี ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีและกรรมวิธีการผลิตแต่บริษัทของอเมริกันไม่เคยให้โอกาสเราเลย" ที่โรงงานรัฐโอไฮโอ เมื่อมีการใช้การบริหารแบบใหม่ ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างจึงเป็นไปด้วยดีและมีคนเข้าออกน้อย และระหว่างที่ยังไม่มีสหภาพแรงงานในขณะนี้ ในอนาคตก็อาจจะมีความขัดแย้งกับสหภาพคนงานอเมริกันได้
ความแตกต่างคนงานสหรัฐ-ญี่ปุ่น
อะไรคือข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างคนงานสหรัฐและญี่ปุ่น ? ในสหรัฐนั้นหลักการแบบ "พ่อ" ปกครองสังคมอยู่ คือทุกคนต้องอยู่กันอย่างอิสระและดิ้นรนแข่งขันกัน ในวัฒนธรรมเช่นนั้น ผู้คนจะพอใจเมื่อได้เป็นผู้ชนะ และจะไม่พอใจเมื่อต้องยอมรับความพ่ายแพ้ ส่วนในญี่ปุ่นซึ่งมีหลักการแบบ "แม่" อยู่ ความสัมพันธ์ของการพึ่งพากันนั้นมีอยู่ค่อนข้างจะทั่วไปและผู้คนก็หวังที่จะอยู่กันเป็นกลุ่มโดยต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ในสังคมเช่นนี้ก็ค่อนข้างยากที่จะมีความพอใจในฐานะที่เป็นคนอิสระ และหลาย ๆ คนจะรู้สึกว่าตนเองถูกข่มเหง คนญี่ปุ่นมีจิตวิทยาอยู่อย่างหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่พอใจได้ง่าย ๆ แม้ว่าจะกำลังแสวงหาความพอใจอยู่ในแง่ของจิตวิทยาลึก ๆ แล้ว
เมื่อเร็ว ๆ นี้ อุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานของญี่ปุ่น ต้องประสบกับการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากมีการกีดกันของต่างประเทศมากขึ้นในหมู่ประเทศทางตะวันตกและความขัดแย้งทางการค้าในสถานการณ์เช่นนี้ บริษัทญี่ปุ่นที่ใหญ่ ๆ ถูกบังคับให้กลายเป็นบริษัทอเนกชาติแต่ก็ไม่ค่อยรู้วิธีบริหารโรงงานในต่างประเทศ บริษัทที่วิวัฒนาการในบรรยากาศญี่ปุ่นก็ประสบกับปัญหาการบริหารแบบปิดและแรงกดดันภายในบริษัท "การปิด" นี้ทำให้อุตสาหกรรมญี่ปุ่นหลายอย่างต้องเพิ่มการผลิตในประเทศญี่ปุ่น แล้วส่งสินค้าออกไปถล่มตลาดต่างประเทศ และสร้างความขัดแย้งทางการค้าขึ้นด้วยสินค้าบางอย่าง
ในขณะเดียวกัน ความกดดันจากกลุ่มก็มีผลในการป้องกันการเจริญเติบโตของบุคคลเด่น ๆ ภายในบริษัทฮอนด้า มอเตอร์ประสบความสำเร็จในการกำจัดปัญหาเหล่านี้โดยการเน้นที่การมีผู้นำที่แข็งแกร่ง มีโครงสร้างองค์กรที่ยืดหยุ่นและมีความรู้สึกรับผิดชอบในหมู่ของคนที่มักจะรู้สึกว่าต้องพึ่งพากัน นี่คือ ความลับของการเจริญเติบโตของฮอนด้า มอเตอร์และทำให้บริษัทนี้นำหน้าคู่แข่งในการใช้กลยุทธ์การค้าในต่างประเทศ