The Man, The Management, The Machines.
เทตซึโอะ ซากิยะ เขียน
ธนิต ธรรมสุคติ แปล จากต้นฉบับ Updated paperback Edition 1987
สงวนลิขสิทธิ์
โซอิจิโร ฮอนด้า
ปูชนียบุคคลที่โลกยานยนต์ต้องจารึก
อัจฉริยบุคคลผู้ก่อตั้ง...และวางรากฐานความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ให้กับ "บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด" เป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับเกียรติยศอันสูงส่ง ให้เป็นสมาชิกทำเนียบ "ปูชนียบุคคลยานยนต์โลก" (AUTOMOTIVE HALL OF FAME) อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2532
ปัจจุบันนี้ บริษัทมีกำลังคนอยู่กว่า 4,000 คน ทั้งหมดนี้คัดเลือกจากคนท้องถิ่น-320 คน ทำงานที่โรงงานจักรยานยนต์และ 3,000 คนทำงานที่โรงงานรถยนต์ คนงานเหล่านี้ถูกเรียก (และเรียกตัวเอง) ว่า "เพื่อนร่วมงาน" แทนที่จะเรียกว่า "คนงาน" หรือ "ลูกจ้าง" อย่างที่เรียกกัน เพื่อนร่วมงานและผู้จัดการสวมเสื้อผ้าทำงานแบบเดียวกัน กินอาหารในโรงอาหารเดียวกัน และเรียกขานกันโดยใช้ชื่อต้น ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความรู้สึกมีเอกภาพ โรงงานรถยนต์มีนโยบายด้านบุคคลอย่างเดียวกันกับของโรงงานจักรยานยนต์ดังได้บรรยายไว้ในบทที่ 1
ในขณะที่การเริ่มการผลิตใกล้เข้ามา คือประมาณฤดูร้อนปี 1982 บุคลากรฝ่ายผลิตที่สำคัญ ๆ ที่ได้รับการว่าจ้างในท้องถิ่น ก็กลับจากญี่ปุ่นหลังจากได้รับการฝึกอบรมอย่างกว้างขวางที่โรงงานซายามะของฮอนด้า มอเตอร์ ซึ่งผลิตรถฮอนด้า แอคคอร์ด มีวิศวกรบางคนที่ถูกส่งมาจากญี่ปุ่นเพื่อช่วยสอนและฝึกงานให้แก่พนักงาน ความสนใจหลักของนากางาวะอยู่ที่การทำให้แน่ใจได้ว่า รถยนต์ที่ผลิตในโอไฮโอจะไม่ด้อยคุณภาพกว่ารถที่ส่งมาจากญี่ปุ่น ทุกคนได้รับคำสั่งให้รายงานหัวหน้าของตนทราบทันทีเมื่อพบว่า ชิ้นส่วนชิ้นใดมีข้อบกพร่อง ความสำนึกถึงคุณภาพเช่นนี้เกิดจากความไม่สบายใจของเอเยนต์ที่ขายฮอนด้า แอคคอร์ดในสหรัฐฯ ที่เกรงว่าการผลิตรถยนต์นี้ในอเมริกาจะได้รถที่คุณภาพเสื่อมลง อย่างไรก็ตามเอเยนต์ต่าง ๆ ใจชื้นขึ้นเมื่อพบว่าฮอนด้า แอคคอร์ดที่ผลิตที่โอไฮโอนั้นก็ดีเท่า ๆ กับที่ผลิตในญี่ปุ่น
แต่เดิมนั้น โรงงานรถยนต์ในโอไฮโอมีกำลังการผลิตได้ปีละ 150,000 คัน และผลิตได้เต็มกำลังในเดือนพฤาภาคม 1984 ในตอนแรก ฮอนด้า มอเตอร์มีเป้าหมายจะถึงจุดคุ้มทุนได้ในเวลาสามปีจากการเริ่มต้นผลิตและจะล้างหนี้สะสมที่เกิดจากการลงทุนเบื้องต้นได้ในเวลาห้าปี แต่ฮอนด้าออฟอเมริกาเริ่มทำกำไรแล้วในไตรมาสสุดท้ายของปี 1983 และหนี้สะสมหมดไปในระหว่างไตรมาสที่สองและสามของปี 1984 หรือสามปีก่อนกำหนด ถึงแม้ว่านี่จะเป็นเพราะตลาดยอมรับคุณภาพอันสูงของฮอนด้า แอคคอร์ดอยู่ไม่น้อย นโยบายลดหย่อนภาษีการลงทุนของประธานาธิบดีเรแกนก็มีส่วนช่วยอยู่ด้วย เช่นเดียวกับการที่รถยนต์ญี่ปุ่นขึ้นราคาอย่างมากจากการที่ญี่ปุ่นคุมการส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐฯ โดยความสมัครใจ
เพราะความสำเร็จในการผลิตรถฮอนด้า แอคคอร์ด ทางฮอนด้า มอเตอร์จึงดำเนินโครงการเพิ่มกำลังการผลิตเป็นสองเท่าที่โรงงานในโอไฮโอ เป็น 300,000 คันต่อปีในปี 1988 โดยติดตั้งสายการผลิตสายที่สองขึ้นและให้ผลิตฮอนด้า ซิวิคด้วย อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวตอนปีใหม่ปี 1986 ประธานบริษัทฮอนด้า มอเตอร์ นายทาดาชิ คุเมะ ประกาศว่า "บัดนี้เราได้ตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตที่โรงงานโอไฮโอเป็น 360,000 คัน โดยการปรับปรุงสายการผลิตสองสายที่มีอยู่ สายการผลิตสายที่สองเปิดใช้งานในเดือนเมษายน 1986 ในขณะที่สายการผลิตสายแรกประกอบรถแอคคอร์ด 4 ประตู ส่วนสายที่สองประกอบรถแอคคอร์ด 3 ประตูและรถซิวิค
"ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ จากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อเมริกาที่มาเยี่ยมเรา" ประธานอิริมาจิริแห่งฮอนด้าออฟอเมริกา กล่าว "ตอนแรกก็แปลกใจในความสั้นของสายการผลิตของเรา ตัวอย่างเช่น ตามวิธีการเดิมจะต้องมีสี่หรือห้าขั้นตอนในกรรมวิธีการเชื่อม เราก็ใช้เครื่องเชื่อมแบบหมุนได้รอบตัว ทำงานเชื่อมทั้งหมดเสร็จในขั้นตอนเดียว เรายังใช้หุ่นยนต์เชื่อมโลหะหน้าที่เดียวด้วย ซึ่งหุ่นยนต์นี้เล็กมากจนได้รับฉายาต่าง ๆ"
ถึงจะดำเนินงานเต็มขีดความสามารถ ก็ไม่มีสายการผลิตสายใดในจำนวนสองสายในโอไฮโอสามารถผลิตรถยนต์ได้เกินกว่า 200,000 คัน ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรถ 400,000 คันที่ผลิตจากสายการผลิตในโรงงานผลิตในญี่ปุ่น นี่คือเหตุผลที่อดีตประธานคาวาชิมะสั่งว่า สายการผลิตแต่ละสายในโอไฮโอจะต้องยาวเพียงครึ่งหนึ่งของสายการผลิตในญี่ปุ่นเพื่อว่าการลงทุนในแต่ละสายจะได้น้อยกว่าในญี่ปุ่น่ครึ่งหนึ่งและต้นทุนการผลิตต่อคันในโอไฮโอจะได้เท่ากับต้นทุนการผลิตในญี่ปุ่น เครื่องเชื่อมแบบหมุนรอบตัวนี้ได้รับการพัฒนาเป็นพิเศษสำหรับโรงงานโอไฮโอโดยบริษัทฮอนด้าเอนจิเนียริง บริษัทสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของอยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์และมีหน้าที่รับผิดชอบในการออกแบบและจัดหาเครื่องมือการผลิตสำหรับโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าต่าง ๆ ทั่วโลก
โซอิจิโร ฮอนด้า เคยประณามหุ่นยนต์ที่ใช้คนคุมเพียงคนเดียวว่าเป็น "ปีศาจแขนเดียว" และให้ความสนใจเล็กน้อยกับเครื่องมือนี้ ฮอนด้าเอนจิเนียริงประสบความสำเร็จในการพัฒนาหุ่นยนต์แบบนี้ให้ทำหน้าที่สลับซับซ้อนที่สุดต่าง ๆ พร้อม ๆ กันได้ และพัฒนาหุ่นยนต์อีกตัวสำหรับงานที่ง่ายเฉพาะกิจ หุ่นยนต์ชนิดแรกนั้นได้แก่เครื่องเชื่อมแบบหมุนรอบตัว ซึ่งเชื่อมตัวถังด้านข้างทั้งสองด้าน หลังคา และพื้น เป็นการสร้างตัวถังรถยนต์ให้เสร็จสมบูรณ์ ส่วนหุ่นยนต์แบบหลังที่เล็กกว่า ทำหน้าที่ต่าง ๆ ในการเชื่อมโลหะหลังจากนั้นที่โรงงานโอไฮโอมีหุ่นยนต์อย่างนี้อยู่หกถึงแปดตัวติดตั้งอยู่แต่ละจุด ในสายการผลิตที่สองการเชื่อมโลหะทำโดยอัตโนมัติทั้งหมด ดังจะเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่สายการเชื่อมยาว 90 เมตรนั้นมีคนคุมเพียงหกคนเท่านั้น
โรงงานโอไฮโอมีเครื่องมือล้ำยุค บางอย่างยังไม่มีใช้ในโรงงานที่ญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ผลของการนี้เห็นได้ชัดเจนในจำนวนเงินที่ลงทุนไปในโอไฮโอ การลงทุนสำหรับขั้นแรกของการก่อสร้างโรงงานรถยนต์เป็นเงินทั้งสิ้น 250 ล้านดอลลาร์ อีก 280 ล้านดอลลาร์ใช้ไปในการติดตั้งสายการผลิตใหม่ และอีก 60 ล้านดอลลาร์ใช้ไปในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต กล่าวคือฮอนด้า มอเตอร์ใช้เงินไป 590 ล้านดอลลาร์เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ที่สามารถผลิตรถยนต์แอคคอร์ดและซิวิคได้ปีละ 360,000 คันในสหรัฐฯ เงินจำนวนนี้ถือว่าน้อยมากอย่างเหลือเชื่อเมื่อเทียบกับประเภทของการลงทุน ที่ผู้ผลิตรถยนต์อเมริกันจะใช้ไปในการก่อสร้างโรงงานแบบเดียวกันนี้ นี่เป็นข้อพิสูจน์อย่างล้นเหลือว่าฮอนด้าเอนจิเนียริงมีบทบาทสำคัญในกลวิธีระดับโลกของฮอนด้า มอเตอร์
ตอนที่ 10 ฮอนด้า : การขยายงานและกลยุทธ์ระดับนานาชาติ (ค.ศ. 1982-87)