ความสำเร็จของการบริหารงาน HONDA MOTOR- ตอนที่ 10.2 ฮอนด้า : การขยายงานและกลยุทธ์ระดับนานาชาติ (ค.ศ. 1982-87)


The Man, The Management, The Machines.

เทตซึโอะ ซากิยะ เขียน

ธนิต ธรรมสุคติ แปล จากต้นฉบับ Updated paperback Edition 1987

สงวนลิขสิทธิ์

โซอิจิโร ฮอนด้า

ปูชนียบุคคลที่โลกยานยนต์ต้องจารึก

อัจฉริยบุคคลผู้ก่อตั้ง...และวางรากฐานความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ให้กับ "บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด" เป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับเกียรติยศอันสูงส่ง ให้เป็นสมาชิกทำเนียบ "ปูชนียบุคคลยานยนต์โลก" (AUTOMOTIVE HALL OF FAME) อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2532

คำพูดต่อไปนี้แสดงให้เห็นว่าโรงงานรถยนต์โอไฮโอบรรลุซึ่งต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกันทั้งหมด "ถือเสียว่าส่วนแบ่งชิ้นใหญ่ส่วนหนึ่งของตลาดสหรัฐฯ จะต้องได้รับการคุ้มครองในระยะยาว ก็จำเป็นที่กลวิธีของฮอนด้าจะต้องเป็นการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ต้นทุนต่ำคุณภาพสูงภายในตลาดที่มีการคุ้มครอง ผมคิดว่าฮอนด้า มอเตอร์กำลังเล่นเกมที่ฉลาดที่สุดในฐานะผู้ผลิตรถยนต์และได้แย่งชิงความเป็นผู้นำไปจากผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ ของญี่ปุ่นในการลงทุนทางตรง" เจมส์ พี. โวแมกแห่งเอ็มไอทีกล่าว

"เป็นความจริงครับ" อิริมาจิริกล่าว "ที่โรงงานรถยนต์ของเรามีเครื่องมือที่ล้ำยุคที่สุดอยู่บางอย่าง แต่ผมสังเกตเห็นความแตกต่างอย่างมากในวิธีการคิดเกี่ยวกับเครื่องจักรนี้ระหว่างพวกเราคนญี่ปุ่นและคนทางตะวันตก คนทางตะวันตกมีแนวโน้มที่จะคิดว่าเครื่องมือการผลิตมีทางที่จะเสื่อมลงไปเมื่อเวลาผ่านไป แต่สำหรับเรานั้น การติดตั้งเครื่องมือสักเครื่องเป็นเพียงการเริ่มต้น และเราจะพยายามปรับปรุงมันเพื่อว่าเครื่องมือนั้นจะได้ทำงานดีขึ้น การปรับปรุงเครื่องมือนั้นมิใช่เป็นเพียงความรับผิดชอบของผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมแต่เพียงผู้เดียว คนที่ทำงานที่ช็อปฟลอร์รู้จักเครื่องจักรนั้นดีกว่าใคร ๆ ดังนั้นพวกนี้จะต้องร่วมมือกับวิศวกร นี่คือ ระบบ "คำแนะนำเพื่อการปรับปรุง" ที่เราใช้ในโรงงานของเราทั่วโลก ตอนที่พวกเราที่โอไฮโอเริ่มผลิตฮอนด้า แอคคอร์ด เครื่องมือของเราล้ำหน้ากว่าที่ใช้กันในญี่ปุ่น แต่โรงงานซายามะที่ญี่ปุ่นพยายามยิ่งกว่าเราในการปรับปรุงเครื่องมือและผลก็คือ ในขณะนี้ประสิทธิภาพของโรงงานนั้นเกือบเท่ากับของเรา นี่แสดงอย่างชัดแจ้งถึงความสำคัญของการให้การศึกษาแก่พนักงานของเรา"

แมรีสวิลล์ รัฐโอไฮโอ เป็นเมืองการเกษตร ผู้คนที่นั่นไม่มีความเกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมรถยนต์ การว่าจ้างและให้การศึกษาคนเช่นนั้นเป็นนโยบายหลักอย่างหนึ่งในการดำเนินกิจการผลิตรถยนต์ในต่างประเทศของฮอนด้า เช่น ในโรงงานจักรยานยนต์ในเบลเยียมและอิตาลี นโยบายนี้ขณะนี้ได้รับการนำไปใช้โดยผู้ผลิตรถยนต์อเมริกันต่าง ๆ เช่น เจเนอรัล มอเตอร์ส ซึ่งเลือกเมืองกรีนฮิลล์ ในรัฐเทนเนสซีเป็นที่ตั้งโครงการแซเทิร์น (แม้ว่าขนาดของโครงการจะถูกลดลงในตอนนี้) ด้วยจุดประสงค์ที่จะไปสู่ "ทุ่งเขียวที่ไม่มีสัมพันธภาพทางสังคมที่ล้าสมัยระหว่างคนงานและผู้จัดการ วิศวกร/นักออกแบบและผู้จัดการโรงงาน โรงงานและผู้จัดหา หรือโรงงานและเอเยนต์"

ในฮอนด้าออฟอเมริกา คนงานไม่เพียงแต่จะได้รับการศึกษาในเรื่องเทคนิคการผลิตรถยนต์เท่านั้นแต่ยังได้รับการสอนถึง "วิธีการของฮอนด้า" ในด้านการจัดการบริษัทซึ่งเป็นปรัชญาของฮอนด้า มอเตอร์มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ดังนั้นโรงงานโอไฮโอจึงสามารถใช้และขยายระบบ "คำแนะนำเพื่อการปรับปรุง" ออกไป และมีจำนวน "เพื่อนร่วมงาน" เพิ่มมากขึ้นที่สมัครใจร่วมในวงจรควบคุมคุณภาพต่าง ๆ สหภาพคนงานรถยนต์อ้างว่า การควบคุมคนงานในลักษณะของบิดาปกครองบุตรแบบนี้ เท่ากับเป็นการเสียสละสิทธิต่าง ๆ ของคนงานเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท เนื่องจากเหตุนี้ สหภาพคนงานรถยนต์จึงตั้งสำนักงานขึ้นใกล้กับแมรี่สวิลล์ในความพยายามที่จะจัดคนงานให้เป็นสหภาพ ฝ่ายบริหารของโรงงานมีท่าทีเป็นกลางต่อเรื่องนี้ โดยกล่าวว่าการจัดตั้งสหภาพเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินโดยคนงานเอง ดังนั้นจึงไม่กระทำการใด ๆ ป้องกันการจัดตั้งสหภาพแรงงานจนกระทั่งถึงขณะนี้ มีคนงานจำนวนน้อยมากที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

ในขณะที่โรงงานที่แมรี่สวิลล์ยังคงขยายต่อไปและมีการว่าจ้างคนงานใหม่อยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องมีการปลดคนงานและฝ่ายบริหารกล่าวไว้อย่างชัดแจ้งว่า ในอนาคตถ้าจำเป็นต้องปลดคนงาน ฝ่ายบริหารจะทำทุกอย่างที่จะปลดคนงานจำนวนน้อยที่สุด นโยบายนี้เป็นที่ชื่นชอบของคนงานทั้งหมด ในฤดูใบไม้ผลิปี 1985 บริษัทได้ตั้งสิ่งที่เรียกว่า "คณะกรรมการพิจารณาเพื่อนร่วมงาน" เพื่อตัดสินว่าการไล่คนงานออกนั้นยุติธรรมหรือไม่ ถ้าผู้ที่ถูกไล่ออกจากงานร้องเรียนคัดค้านก็จะมีการประชุมคณะกรรมการนี้ ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าคณะกรรมการและตัวแทนบริษัทหนึ่งนาย ซึ่งทั้งสองคนนี้ทางบริษัทเป็นผู้เสนอชื่อ และกรรมการอื่นอีกหกนายที่คัดเลือกสุ่มจากเพื่อนร่วมงานที่ไม่มีสัมพันธภาพพิเศษกับผู้ที่ถูกไล่ออก หลังจากหัวหน้าคณะกรรมการกล่าวเปิดการประชุม ตัวแทนของบริษัทจะแจ้งถึงเหตุผลในการไล่ออก และผู้ที่ถูกไล่ออกจะมีโอกาสแถลงปกป้องตนเองได้ ในที่สุดตัวแทนบริษัทและกรรมการอีกหกคนจะลงคะแนนลับ ถ้าสี่เสียงเห็นว่าเป็นการไล่ออกที่ไม่ยุติธรรม "จำเลย" จะได้กลับเข้าทำงานทันที ฮอนด้าออฟอเมริกานำระบบนี้มาใช้เพื่อจะได้ปรับเข้ากับวิญญาณของการทำอะไรอย่างยุติธรรม อันเป็นพื้นฐานของสังคมอเมริกัน

ปัญหาหนึ่งซึ่งเผชิญหน้าฮอนด้าออฟอเมริกาอยู่คือ การจัดซื้อชิ้นส่วนในท้องถิ่น ทางบริษัทซื้อเหล็กแผ่นจากบริษัทอินแลนด์สตีล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับสี่ในสหรัฐฯ และยังมีสัญญากับผู้จัดหาต่าง ๆ ในรัฐโอไฮโอ มิชิแกน และอินเดียนาเพื่อซื้อกระจก ยางรถยนต์ แบตเตอรี่ และชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็ก ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดคือ การรับประกันคุณภาพสูงได้อย่างมั่นใจพอเพียง ฮอนด้าออฟอเมริกาเคยตั้งคณะที่ประกอบด้วยชาวญี่ปุ่นและชาวอเมริกัน ทำการสำรวจผู้จัดหาอเมริกัน นี่ทำให้บริษัทเชื่อว่า ในขณะที่ผู้จัดหาสามารถบรรลุซึ่งคุณภาพสูงได้จากการทดลอง มาตรฐานเหล่านี้จะต้องสูญเสียไปในการผลิตจำนวนมาก เพราะฉะนั้น ฮอนด้าออฟอเมริกาในขณะนี้จึงกำลังดำเนินการกับผู้จัดหาเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้าที่ส่งมอบให้ฮอนด้าออฟอเมริกา

พร้อม ๆ กับที่พยายามซื้อหาจากผู้จัดหาท้องถิ่น บริษัทเองก็ลงทุนไปในการเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่น เช่น ภายในบริเวณของโรงงานที่แมรีสวิลล์ รัฐโอไฮโอ บริษัทใช้เงิน 42 ล้านดอลลาร์เพื่อตั้งเครื่องจักรผลิตชิ้นส่วนพลาสติก ที่ที่ตั้งโรงงานใหม่ใกล้หมู่บ้านแอนนาในเคานตี้เชลบี้ รัฐโอไฮโอ มีการลงทุน 70 ล้านดอลลาร์เพื่องานขั้นแรกเพื่อผลิตเครื่องยนต์ฮอนด้าในสหรัฐฯ โรงงานแอนนาในขณะนี้ผลิตเครื่องจักรยานยนต์ให้แก่โรงงานแมรีสวิลล์ และได้เริ่มสิ่งที่เรียกว่า "การผลิตต้นแบบ" ของเครื่องยนต์ 1,500 ซีซี.เพื่อติดตั้งในรถฮอนด้า ซีวิค ในเดือนมกราคม 1987 ฮอนด้า มอเตอร์ประกาศว่าจะลงทุนเพิ่มอีก 450 ล้านดอลลาร์ที่โรงงานแอนนาเพื่อขยายโรงงานเครื่องยนต์ ซึ่งจะต้องว่าจ้างคนเพิ่มอีก 800 คน และจะดำเนินงานต่าง ๆ เช่น การหล่อ การใช้เครื่องจักร และการประกอบเพื่อการผลิตอย่างเต็มอัตรา ไม่เพียงแต่เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์เท่านั้น แต่ยังผลิต drive trains และห้ามล้อด้วย การผลิตนี้กำหนดไว้ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1988 และโรงงานจะผลิตเต็มที่ให้ได้รถยนต์ 360,000 คันต่อปีในกลางปี 1990 ผลจากการนี้คืออัตราการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในท้องถิ่นที่ผลิตโดยฮอนด้าออฟอเมริกาจะมีเกินกว่า 66 เปอร์เซ็นต์

ตอนที่ 10.1 ฮอนด้า : การขยายงานและกลยุทธ์ระดับนานาชาติ (ค.ศ. 1982-87)

Recent posts

error: Content is protected !!