ความสำเร็จของการบริหารงาน HONDA MOTOR- ตอนที่ 10.4 ฮอนด้า : การขยายงานและกลยุทธ์ระดับนานาชาติ (ค.ศ. 1982-87)


The Man, The Management, The Machines.

เทตซึโอะ ซากิยะ เขียน

ธนิต ธรรมสุคติ แปล จากต้นฉบับ Updated paperback Edition 1987

สงวนลิขสิทธิ์

โซอิจิโร ฮอนด้า

ปูชนียบุคคลที่โลกยานยนต์ต้องจารึก

อัจฉริยบุคคลผู้ก่อตั้ง...และวางรากฐานความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ให้กับ "บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด" เป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับเกียรติยศอันสูงส่ง ให้เป็นสมาชิกทำเนียบ "ปูชนียบุคคลยานยนต์โลก" (AUTOMOTIVE HALL OF FAME) อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2532

ARG มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการขายรถรุ่นที่ได้รับอนุญาตผลิตในี้ในเขตของตลาดร่วมยุโรปและฮอนด้าขายรถของตนเองในเขตอื่น ๆ เพื่่อที่จะช่วย ARG ส่งเสริมการตลาดของรถที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตนี้ในเขตตลาดร่วมยุโรป ฮอนด้า มอเตอร์จึงสมัครใจที่จะไม่ขายรถฮอนด้า ซิวิค 4 ประตูหรือรถฮอนด้าบัลเลตในเขตเดียวกัน ในเดือนเมษายน 1985 ทั้งสองบริษัทลงนามในข้อตกลงอีกฉบับ ซึ่ง ARG จะผลิตฮอนด้า บัลเลต 4 ประตูในฐานะผู้รับจ้างผลิต และฮอนด้า มอเตอร์จะขายรถรุ่นนี้ที่ติดตราฮอนด้าผ่านทางเอเยนต์ของฮอนด้าเองในอังกฤษในอัตราปีละ 5,000 คัน ทำให้ฮอนด้า มอเตอร์สามารถมีฐานการผลิตในยุโรปได้แม้ว่าจะเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อยก็ตามโดยไม่ต้องไปถือหุ้นของ ARG แต่อย่างใด

ในเดือนพฤศจิกายน 1981 ฮอนด้าและ ARG ลงนามในบันทึกความจำฉบับหนึ่งเพื่อร่วมกันพัฒนารถยนต์สำหรับนักบริหาร โดยเรียกรถรุ่นนี้ว่ารุ่น "XX" โครงการนี้บรรลุซึ่งการลงนามในข้อตกลงร่วมการผลิตฉบับหนึ่งในเดือนเมษายน 1984 นายนอร์แมน ลามอนต์ รัฐมนตรีว่าการการค้าและอุตสาหกรรมของอังกฤษออกแถลงการณ์แสดงความยินดีด้วยมีความว่า "รถนักบริหารรุ่น XX...เป็นรถที่ได้รับการดำเนินการแต่แรกเริ่ม ให้เป็นรถที่ร่วมกันลงทุน- คงจะเป็นรายแรกของโลกด้วย รัฐบาลอังกฤษมีความยินดีต้อนรับโครงการนี้ในฐานะที่เป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างบริษัทอังกฤษและบริษัทญี่ปุ่น...ภายในเวลา 18 เดือนของการเริ่มต้นการผลิตเพื่อการค้า อัตราชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศจะมีอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ โดยพิจารณาถึงช่วงเวลาอีกสองปีครึ่งที่จะต้องส่งออกชิ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อการผลิตรถรุ่น XX ในญี่ปุ่นด้วย"

จุดสำคัญ ๆ ของข้อตกลงร่วมการผลิตมีดังต่อไปนี้

(1) ฮอนด้า มอเตอร์จะผลิตไม่เพียงแต่รถตามแบบของตนเท่านั้น แต่จะผลิตรถรุ่น XX ตามแบบของ ARG ด้วยที่โรงงานซายามะในญี่ปุ่น ARG ก็เช่นกัน จะผลิตรถทั้งสองแบบของรุ่นนี้ที่โรงงานคาวลีย์ในอังกฤษ

(2) การผลิตจะเริ่มต้นในครึ่งหลังของปี 1985

(3) รถยนต์ที่ผลิตตามสัญญาผลิตช่วง คือ รถตามแบบของ ARG ที่โรงงานซายามะและตามแบบของฮอนด้าที่โรงงานคาวลีย์ จะเริ่มออกจากสายการผลิตในตอนต้นปี 1986

(4) รถรุ่น XX ที่ติดตราฮอนด้าและผลิตที่โรงงานคาวลีย์จะขายในยุโรปโดยผ่านทางข่ายเอเยนต์ของฮอนด้า มอเตอร์

(5) รถรุ่น XX ที่ติดตราของ ARG และผลิตที่โรงงานซายามะ จะขายในญี่ปุ่นและออสเตรเลียโดยผ่านทางข่ายเอเยนต์ของ ARG

(6) ส่วนในตลาดอื่น ๆ ทั้งสองบริษัทสามารถขายรถยนต์ที่ตนผลิตได้

รถรุ่น XX ใช้เครื่องยนต์ V-6 ขนาด 2.0 และ 2.5 ลิตรของฮอนด้า มอเตอร์ เผยโฉมในปี 1985 คันหนึ่งใช้ชื่อว่าฮอนด้าเลเจนด์ อีกคันใช้ชื่อ โรเวอร์ สเตอร์ลิง ถึงจะใช้เทคโนโลยีร่วมกัน แต่ทั้งสองคันก็แตกต่างกันอย่างเห็นชัด เป็นการให้เอกลักษณ์บริษัทที่แตกต่างออกไปสำหรับแต่ละบริษัท

ก็แปลกดีที่เลเจนด์และสเตอร์ลิง ซึ่งผลิตที่โรงงานคาวลีย์ทั้งสองยี่ห้อในขณะนี้กำลังแข่งขันกันผ่านทางข่ายเอเยนต์ของฮอนด้า มอเตอร์และ ARG ในยุโรป ในตลาดอเมริกันนั้นรถเลเจนต์ที่ผลิตในญี่ปุ่นและรถโรเวอร์ สเตอร์ลิงที่ผลิตในอังกฤษก็กำลังแข่งขันกันอยู่

ในการเตรียมการเพื่อว่าจ้าง ARG ให้ผลิตรถเลเจนต์นั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1985 ฮอนด้า มอเตอร์ได้ตั้งบริษัทฮอนด้าออฟเดอะยู.เค.แมนูแฟกเจอริง โดยใช้สถานที่ซึ่งเคยเป็นสนามบินเซาธ์มาร์สตันในย่านสวินดอน ชานเมืองทางตะวันตกของกรุงลอนดอน โรงงานนี้ซึ่งสร้างเสร็จในฤดูร้อนปี 1986 ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อส่งไปยังโรงงานคาวลีย์เพื่อใช้ในรถเลเจนด์ และทำการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์ที่ผลิตโดย ARG ก่อนการส่งรถยนต์เหล่านี้ออกสู่ตลาด

ในเดือนมิถุนายน 1985 ฮอนด้า มอเตอร์และ ARG ลงนามในบันทึกความจำอีกฉบับเพื่อร่วมกันพัฒนารถรุ่นใหม่ที่เรียกว่า รุ่น YY ซึ่งเป็นรถนั่งขนาดเล็กกว่ารุ่น XX โดยใช้เครื่องยนต์ 1.3 ถึง 1.6 ลิตร โดยเป้าหมายกำหนดไว้ตอนปลายทศวรรษ 1980 ทั้งสองบริษัทลงนามในข้อตกลงเป็นทางการสำหรับโครงการนี้ในเดือนเมษายน 1987 เป็นการเปิดทางให้เริ่มการผลิตได้ในปี 1989

"ผมมีความเห็นมานานแล้ว" นายแดเนียล โจนส์ นักวิจัยอาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์กล่าว "ว่าญี่ปุ่นจะพัฒนารถออกมาแข่งขันในตลาดรถหรูหราและตลาดรถสำหรับนักบริหาร ซึ่งบริษัทต่าง ๆ เช่น บีเอ็มดับลิวครอบครองอยู่ ตอนที่ผมไปญี่ปุ่นครั้งสุดท้ายนั้นคนในฮอนด้าบอกเราว่าเรารู้ว่าเราไม่สามารถจะเป็นเดมเลอร์เบนซ์ได้--แต่เราสามารถและจะเป็นบีเอ็มดับบลิวได้ ทุกคนตั้งเปาหมายรถคันใหญ่คันต่อไปที่บีเอ็มดับบลิวโดยตระหนักดีว่ารถยุโรปคันใหญ่ต่างหากที่เป็นเป้าหมายให้เล็งถึง หาใช่รถคันใหญ่อย่างรถอเมริกันไม่ รถฮอนด้า HX และรถออสตินโรเวอร์ AC เป็นรถรุ่นแรกที่จะชนกับบีเอ็มดับบลิวนี่จะเป็นความท้าทายยิ่งใหญ่ที่สุดต่อสิ่งที่เป็นกำลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมรถยนต์ยุโรป ซึ่งก็คือความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีและความมีชั้นของบีเอ็มดับบลิว"

การนำรถเลเจนด์ออกสู่ตลาด ก็ได้นำกลวิธีการตลาดแบบใหม่สู่อเมริกาเหนือโดยฮอนด้า มอเตอร์ด้วย เพราะรถรุ่นใหม่นี้ทำให้อเมริกันฮอนด้า มอเตอร์สร้างข่ายการตลาดใหม่ขึ้นมาด้วย ข่ายงานใหม่นี้ชื่อว่า "อาคูระ" กับข่ายงานเดิมของฮอนด้าบัดนี้ทำให้อเมริกันฮอนด้า มอเตอร์สามารถขายรถยนต์ผ่านสองช่องทางได้ อาคูระเริ่มต้นในเดือนมีนาคม 1986 โดยมีเอเยนต์ค้าย่อย 60 ราย จำนวนเอเยนต์ค้าย่อยนั้นตั้งเป้าไว้ให้เพิ่มถึง 600 รายในปี 1990 ในขณะนี้ ข่ายอาคูระขายรถยนต์ฮอนด้าสองรุ่น คือ เลเจนด์ที่หรูหราและอินตีกราที่เฉี่ยวฉิวเพิ่งพัฒนาขึ้นมาใหม่ ส่วนข่ายงานฮอนด้านั้นขายรถแอคคอร์ด พรีลูด และซิวิค นายคลิฟฟ์ ชมิลเลน รองประธานบริษัทอเมริกันฮอนด้า มอเตอร์กล่าวว่า "การสร้างข่ายงานอาคูระนั้น เป็นความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดที่บริษัทของเราเคยเผชิญมา ในด้านรถหรูหราและรถเฉี่ยว ๆ ที่เรากำลังเข้าไปในตอนนี้นั้น เป็นเขตที่คาดว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดในทศวรรษ 1990" ข่ายงานอาคูระอย่างเดียวกันนั้นก็ได้รับการก่อตั้งขึ้นในคานาดา โดยมีเป้าหมายที่จะมีเอเยนต์ในข่ายงาน 100 รายในปี 1990

ในขณะที่กิจกรรมต่าง ๆ ในอเมริกาเหนือแผ่ขยายสาขาออกไปรวมทั้งการผลิตและการตลาดจักรยานยนต์ รถยนต์ผลิตภัณฑ์กำลังและอะไหล่ ตลอดจนการจัดซื้อ ในเดือนมีนาคม 1987 ฮอนด้า มอเตอร์จึงตั้งบริษัทฮอนด้านอร์ตอเมริกาขึ้นที่เมืองทอร์เรนช์ รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยถือหุ้นทั้งหมดไว้ เพื่อให้ทำหน้าที่เร่งดำเนินการการตัดสินใจและประสานงานการผลิตและการตลาดทั่วทั้งเขตอเมริกาเหนือ รวมทั้งคานาดาและเม็กซิโกด้วย นี่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของบริษัทที่จะกระจายอำนาจในการตัดสินใจให้มากขึ้น

ท้ายที่สุดนี้ จะต้องเอ่ยถึงความเกี่ยวพันของฮอนด้า มอเตอร์ในการแข่งขันรถฟอร์มูลาวันกรังด์ปรีซ์ หลังจากที่หายไปสิบห้าปี บริษัทก็กลับคืนสู่การแข่งขันรถสุดยอดคือ ฟอร์มูลาวันในปี 1983 ในปีถัดมา ทีมของฮอนด้าก็ชนะการแข่งขันในปี 1985 ฮอนด้าชนะการแข่งขันสี่ครั้ง ในจำนวนสิบหกครั้งและในปี 1986 รถยนต์ที่พัฒนาโดยวิลเลียมส์แห่งอังกฤษและใช้เครื่องยนต์ฮอนด้า ชนะการแข่งขันเก้าครั้งและทีมวิลเลียมส์-ฮอนด้าครองตำแหน่งแชมเปี้ยนผู้สร้างรถ คนที่คงจะดีใจยิ่งกว่าใคร ๆ คือ โซอิจิโร ฮอนด้า ผู้ที่ใฝ่ฝันจะให้ทีมของเขาได้ครองแชมเปี้ยนนี้มาตั้งแต่นำรถเข้าแข่งประเภทฟอร์มูลาวัน เป็นครั้งแรกในปี 1964 ในปี 1987 เครื่องยนต์ของฮอนด้า มอเตอร์ได้รับการติดตั้งกับรถแข่งของสองทีมแข่งรถ-คือทีมวิลเลียมส์และทีมโลตัส

ที่แน่ ๆ ก็คือ การร่วมการแข่งขันรถฟอร์มูลาวัน จำเป็นต้องมีความยอดเยี่ยมในเรื่องเทคโนโลยีรถยนต์และช่วยเสริมให้ฝีมือทางเทคโนโลยีดีขึ้น ที่อาจจะสำคัญกว่านั้นคือการแข่งรถเป็นประโยชน์ต่อกลวิธีระดับนานาชาติของฮอนด้า มอเตอร์ด้วยเช่นกันเพราะในการยกระดับภาพพจน์ของบริษัทในระดับนานาชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจิตใจของคนอเมริกันนั้นการชนะการแข่งขันรถฟอร์มูลาวัน เป็นการแสดงถึงวิญญาณของการท้าทายไม่หยุดหย่อนของฮอนด้า มอเตอร์นั่นเอง.

HONDA MOTOR- ตอนที่ 10.3 ฮอนด้า : การขยายงานและกลยุทธ์ระดับนานาชาติ (ค.ศ. 1982-87)

Recent posts

error: Content is protected !!