บางกอกแต่หนหลัง-เล่าเรื่องรถและเรื่องเหล้าเมื่อวันวาน ตอน ๔


อาลิ้ม ณ โรงภาษี-บรรเลง

ต่อจากตอนที่แล้วติดค้างไว้เนื่องจากติดลม เข้าเรื่องบางกอกแต่หนหลัง ช่วงที่ว่าด้วยอดีตของท้องถิ่นแถวท่าเรือคลองเตยในยุคเริ่มแรกที่สร้างเสร็จใหม่ๆ กลายเป็นแหล่งรวมของหน่วยงานราชการที่ขยับขยายเข้ามาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วราวทอร์นาโดปานนั้น เพื่อรองรับการหารายได้เข้าประเทศแหล่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ยุคก่อนเกิดสงครามเวียตนาม เริ่มกันตั้งแต่ การท่าเรือแห่งประเทศไทยสร้างเสร็จ กรมศุลกากรก็ตามมา รถไฟก็ต้องมา โรงไฟฟ้าก็ต้องตามมารองรับความเจริญ การประปาก็มากับเขาด้วย องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์หรือ รสพ. ก็มาตั้งฐานบัญชาการอยู่ตรงแยกทางรถไฟซึ่งปิดกิจการไปแล้วเนื่องจากขาดทุนย่อยยับขายสินทรัพย์ไม่พอใช้หนี้สินปรับองค์กรไม่ทันยุคที่มีเอกชนเข้ามาแข่งขันให้บริการที่ดีกว่า แม้นว่า รสพ. มีสาขาอยู่ทั่วประเทศก็ตาม อำเภอหรือปัจจุบันดั้นไปเปลี่ยนใหม่ให้เรียกกันว่าเขต ไม่รู้จากความคิดของผู้ปกครองยุคไหน คำว่าเขตตามมาทีหลัง กะลามังขังขอบเสียเต็มประดาและสิ้นดี

ต่อเนื่องด้วยบริษัทค้าขายกับต่างประเทศก็ต้องมา คลังน้ำมันก็มาไม่ว่าจะเป็นเอสโซ่หรือเจ้าหอยแห่งเนเธอร์แลนด์ ก็เชลล์ๆๆ นั่นล่ะ ยุคนั้นดังกระหึ่มทั่วไทย โดยเฉพาะเอสโซ่สร้างตึกอลังการตรงหัวมุมถนนพระราม 4 เลยแยกวิทยุมาหน่อย เป็นอาคารใหญ่ยุคแรกๆของไทยเช่นเดียวกับโรงแรมดุสิตธานีที่รื้อสนามเทนนิสของสมาคมอะไรจำไม่ได้เพราะชื่อยาวเกิ้น ตามมาด้วยอาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ แบ็งค์ ตั้งตะหง่านอยู่ด้านหน้า ข้างบนเป็นออฟฟิค บริษัทญี่ปุ่นตรึมแล้วกัน ด้านล่างหน้าลิฟท์มีร้านบริดวกให้บริการอยู่ พรรคพวกรุ่นพี่กระผมเอง ฟุตฟิตฟอไฟได้หลากลีลาหลายภาษา รวมทั้งภาษาสากลของโลก ทำไม้ทำมือนั่นล่ะ แต่ท่านนับว่าเก่งภาษาทีเดียว แถมเมียขึ้หึงเข้าไปอีก ไปกันใหญ่เลยครานี้ เนื่องเพราะพวกผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่นที่ทะยอยเข้ามาเปิดเกมส์รุกธุรกิจยุคแรกในไทยพกเมียมาด้วย บรรดาเมียๆ ของญี่ปุ่นพวกนี้มาช้อปปิ้งเล็กๆ มีอันต้องเจออาการหึงของเมียเจ้าของร้านที่หล่อเหลาเอาการ

วกกลับเข้าเรื่องละแวกคลองเตยอีกครา...อู่รถเมล์ก็ต้องมีต้นสายปลายสายที่นี่ สถานีตำรวจก็มีสองแห่ง เบ่งข่มกันไม่ลง เพราะสีเดียวกันว่าง้านเถอะ คลังสินค้าก็เพิ่มมากขึ้น สถานที่พักสินค้ากลางแจ้งหรือที่พักตู้คอนเทนเนอร์ก็ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ยันกล้วยน้ำไท และแล้วในที่สุดก็ต้องมีกรรมกรคนงานรองรับการขนส่งสินค้าทั้งมวล จนเกิด “สลัม” ขึ้นเป็นแห่งแรกของเมืองสยาม กลายเป็นแหล่งอาชญากรรมและยาเสพติดขนาดใหญ่สุดอีกเช่นกัน ยุคนี้ร้านข้าวเหนียวส้มตำบังเกิดประเดิมเมืองกรุงเป็นสมัยแรกของประวัติศาสตร์อาหารอีสานรุ่นบุกเบิกจนเบียดอาหารไทยตกเวทีโลกไปโดยปริยายดั่งที่เห็นเกลื่อนเมืองทุกซอกทุกซอยเหนือชั้นกว่า 7-11 แม้แต่ห้างโลตัสที่ว่าใหญ่คับฟ้าต้องหลีกทางให้น้องโบว์จากแผ่นดินที่ราบสูงขนาด

ด้วยบรรดาผู้คนจากทั่วทุกสารทิศของไทยเข้ามารวมตัวอยู่ในแหล่งเดียวกันจำนวนมาก ประกอบกับการทำมาหากินคล่อง รายได้ดี แหล่งบันเทิงหลากหลายรูปแบบจึงตามมามีให้เลือกหลายระดับ ท้ายที่สุดแหล่งการพนันก็ไม่พ้น หลายระดับอีกเช่นกัน ระดับล่างสุดก็ปากทางเข้าวัดคลองเตยใน จากถนนสุนทรโกษาเข้าไปในซอยเล็กๆ ยามค่ำคืนจะพบกับย่านบันเทิงและวงการพนันตามบริเวณทางรถไฟที่มารวมกันหลายรางเป็นบริเวณกว้าง เปิดให้บริการโจ๋งครึ่มเลยทีเดียว เหตุร้ายต่างๆ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เอือมระอา ปล่อยเป็นไปตามแล้วแต่อิสระเสรีภาพเกินร้อย

ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐก็ใหญ่ๆ โตๆ คับบ้านคับเมืองกันถ้วนหน้า พอตั้งวงรวมก๊วนร่ำสุราได้ที่ สายตาขวางโลก เขม่นโต๊ะข้างๆ หิวโลหิตสดๆ โต๊ะข้างๆ ขึ้นมาทันควัน ไม่ว่าจะเป็น ข้าการท่าเรือใหญ่สุด, ข้าศุลกากรใหญ่กว่า, ข้าตำรวจน้ำใหญ่กว่าสุด, ข้า รสพ. ถึงจะไม่ใหญ่...แต่ยาว, ข้าชิปปิ้งใหญ่สุดๆ เพราะเลี้ยงพวกเอ็ง, ข้ารถเมล์เจ๋งและใหญ่อย่างที่สุดและข้ากรรมกรใหญ่กว่าทุกกรมกอง

นึกภาพกันเอาเองแล้วกันครับท่าน ชุลมุนชุลเกกันอยู่แถบนั้น เรื่องราวเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ยกพวกตีกันมั่วไปหมด หัวร้างข้างแตกอย่างถ้วนทั่วด้วยยุคสมัยนั้นออกแนว “นักเลงโบราณ” ล่อหมัดกันลุนๆ มีคนแจ้งเหตุไปยังสน. ท่าเรือ ขี้เมาพวกนี้ก็ไม่หวั่น นอกจากนี้การระบาดของยาเสพติดยุคกระโน้นที่โด่งดังอย่างหนักก็เฮโรอีน เด็กเล็กติดยากันงอมแงม มีลูกมีเต้ากันแต่เล็กแต่น้อย ยังเล่นโดดเชือกหรือหมากเก็บกันอยู่ทั้งนั้น โรงพยาบาลขนาดย่อมตรงหัวมุมตรงข้ามกับกรมศุลกากรสมัยก่อนเงียบสงบ ร่มรื่น ต้องปรับเป็นโรงพยาบาลใหญ่เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อทางเพศในเมืองกรุงไปโดยปริยาย

กำลังได้ที่ทีเดียว หลงลืมเล่าเรื่องรถเรื่องราจนได้ ว่าจะเล่าเรื่องรถ รสพ. ซักกะหน่อย เป็นรถนำเข้าจากเช็คโกสโลวาเกีย สมัยยังไม่แบ่งแยกประเทศ รถบรรทุกแบบรถ 10 ล้อบรรทุกเรือมาลงท่าเรือคลองเตย แต่ไม่มีเจ้าของมารับรถคงเพราะมีปัญหาใหญ่ทางการเมืองเนื่องเพราะยุคนั้นโรคกลัวคอมมิวนิสต์ระบาดหนักจึงไม่กล้ามารับรถ ท้ายที่สุดส่งมอบให้กับ รสพ. รับฟรีๆ ไปบริการขนส่งสินค้าทั่วไทย

นอกจากนี้ยังมีรถจำนวนหนึ่งส่งมาทางเรือเดินทะเลมาขึ้นที่ท่าเรือคลองเตยเป็นรถของพวกฝรั่งมั่งค่าที่เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก บางประเทศถนนหนทางยังทุรกันดารขับรถข้ามฝ่าไปยากเย็น เลยส่งรถข้ามทะเลมาขึ้นบกที่ไทยแล้วนั่งเครื่องบินมารอรับที่ท่าเรือคลองเตย หลายรายไม่คุ้นเคยกับระบบราชการไทย "เป็นละงง" นั่งรอยื่นเอกสารตั้งแต่เช้ายันค่ำ

ส่วนเรื่องร้านอาหาร, ภัตตาคารต่าง ๆ ไม่ไกลเกินจากที่พำนักอาศัยเกริ่นพอให้เป็นกระสัยแล้วกัน ตรงหัวมุมถนนสาธรฟากทางเข้าจากถนนพระราม ๔ มีภัตตาคารของฮังกาเรียนชื่อว่า Nick's No. 1 Hungarian Inn มีป้ายไฟเล็กๆ สีแดงบ่งบอกอยู่ ส่วนชื่อที่มี No.1 เข้ามาข้องเกี่ยวอันเนื่องมาจากว่า บ้านนี้เค๊าเป็นบ้านแรกๆ ของถนนสาทร จึงได้บ้านเลขที่ 1 จากอำเภอ ห้องอาหารสบายๆ เจ้านี้ต้องเดินเข้าไปในตรอกเล็กๆ เป็นซอยส่วนตัว

เห็นใบปลิวโฆษณาชิ้นนี้ก็พอจะบ่งบอกอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง อาทิ นั่งแท๊กซี่จากโรงแรมที่พักมาร้านนี้ใช้เวลาเดินทางเพียง 5 นาที นั่นหมายถึงว่ายุคสมัยน้้นรถรายังไม่ติดหนึบหนับเฉกเช่นทุกวันนี้ ภายในบรรยากาศสไตล์ตะวันตกล้วนๆ บรรดาทูตานุทูตแวะเวียนมาดื่มด่ำกันถ้วนทั่วรวมทั้งเหล่าทหารอเมริกันที่พักรบจากเวียตนาม นับว่าเป็นร้านอาหารยุโรปยุคแรกแบบมีระดับในเมืองกรุงที่โดดเด่นเน้นคุณภาพสั่งวัตถุดิบจากเมืองนอกเมืองนาสั่งตรงมาโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นสเต็คเนื้อวัวโกเบจากญี่ปุ่น Lobster thermador ไอติมจากเมืองนอก Baked Alaska เจ้านี้เน้นอาหารรสเลิศสไตล์ยุโรปสุดยอดในกรุงสยามยุค "60

ในใบปลิวโฆษณาที่เป็นแผ่นที่จะมีโรงแรม Trocadero อยู่ด้วย โรงแรมอยู่ละแวกปลายถนนสุรวงศ์ติดไปทางถนนเจริญกรุงที่ยังคงความอมตะคลาสสิคมาตราบทุกวันนี้นับว่าเป็นหนึ่งในโรงแรมเก่าแก่ระดับหรูอันดับต้นๆ ของสยามเมืองยิ้ม

ส่วนด้านตรงข้ามตรงหัวมุมถนนสาธร-ถนนพระราม 4 ภัตตาคารกวนอาอีกแหล่งรวมอาหารอร่อยและรับจัดงานบันเทิงควบไปด้วย หนักไปทาง “โต๊ะจีน” ขึ้นชื่อลือชาเช่นกัน ปัจจุบันโยกย้ายไปอยู่แถวบางโพงพาง ถ.พระราม 3 เด่นดังเรื่องข้าวมันไก่สูตรไหหลำ ต้นตำรับดั้งเดิมจากบรรพบุรุษชาวไหหลำที่อพยพมาตั้งรกรากในไทยแถวถนนเจริญกรุงช่วงบางรัก

ญาติสนิทรุ่นพี่ผมรายหนึ่งก็จัดงานแต่งสาวเจ้าที่นี่ล่ะ รถแห่เจ้าบ่าว-เจ้าสาวสมัยนั้นคันโก้คันโตส่วนใหญ่ก็รถจากอเมริกา ถ้าเป็นแบบเปิดประทุนยิ่งโก้หรูเข้าไปใหญ่ ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ก็ตรงที่ผูกโบว์สีชมพูสดตั้งแต่แผงกระจังหน้าพาดมาตัวประตูรถ เจ้าสาวของญาติรุ่นพี่กระผมทรวดทรงองค์เอวไซส์ฝรั่งว่าง้านเถอะ ส่วนเจ้าบ่าวตัวเล็กกว่าพอควร พวกๆ กระผมยังมากระซิบแซวข้างหู "พี่เอ็งนี่ชอบล้มยักษ์นะ"

กระผมเลยบอกต่อญาติคนข้างๆ ดั้นเอาไปบอกต่อซะเสียงดังฟังชัด เรียกเสียงฮาครืนกันทั้งโต๊ะ บรรดาสาวๆ หันมาค้อนคนละขวับสองขวับ คู่นี้อยู่กันยืดยาวถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร เจ้าสาวกลายเป็นเศรษฐีย่อยๆ ไปโดยปริยายหลังจากถูกหวยรางวัลที่หนึ่งถึงสองครั้งสองครา ให้นึกถึงคำโบราณท่านว่าไว้ "แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งบุญวาสนาแข่งไม่ได้"

ทุกวันนี้มีลูกมีหลานไปหลายคนทำมาหากินร่ำรวยมีหน้ามีตากันไปถ้วนทั่วด้วยสาวเจ้าเข้มงวดกวดขันหนักข้อจนลูกเต้าได้ดิบได้ดี หลังจบมหาวิทยาลัยดังในไทยส่งลูกไปคว้าปริญญาโท วิศวฯ จากญี่ปุ่นและเมกากลับมาคนละใบ ส่วนเจ้าคนเล็กจบหมอเมืองไทยเลยจับเจ่าอยุู่กับคนไข้ไม่ได้ไปนอกเรียนต่อไรมากมาย เพราะเมืองไทยขาดบุคลากรทางการแพทย์จนเป็นข่าวมานมนานแต่ไม่เป็นข่าวใหญ่ซักเท่าไหร่ (อันนี้พอรู้ดีเพราะกระผมเคยทำงานที่นิตยสาร "หมอชาวบ้าน" ของมูลนิธิหมอชาวบ้านมาตั้งแต่เรียนจบหมาดๆ อยู่พักหนึ่งแลวนเวียนอยู่ในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์สาธารณสุขปาเข้าไปเกือบ 10 ปี)

วกมาเรื่องของแวดวงแพทย์ไทย เจ้าหลานคนที่ว่าเนื่องด้วยเป็นหมอกินอุดมการณ์ซึ่งสมัยนี้หายากหาเย็น หมอสมัยนี้กลายพันธ์เป็นหมอเล่นหุ้นเล่นหวยกันไปซะหมด แถมอัดแน่นไปด้วย "ธุรกิจกินคน" เข้าให้อีก เจ้าหลานสองรายแรกเจอกระผมมักจะหลบหน้าหลบตา สืบสาวราวเรื่องได้ความว่า “กลัวถูกยืมกะตังค์แล้วเบี้ยว” เพราะกระผมชีวิตยากจนลำเค็ญแสนเข็ญที่สุดในบรรดาญาติพี่น้อง แต่วาสนาดีมีสุราให้ร่ำกับพรรคพวกมีระดับมากมายไร้มลทิน อันนี้กระผมนึกคิดเอาเอง ต่างกับเพื่อนบ้านและบรรดาภรรยาของพรรคพวกทั้งหลายหาว่าผมเป็นมลทินสั่งห้ามคบ เดี๊ยวจะพาลงห้วยลงเหวพาลพาลงอ่างของเสี่ยชูวิทย์ซะอีก เจ้าหลานสองท่านนั่นต่างกับคนสุดท้องที่เป็นแพทย์แนวเดียวกับ "เขาชื่อกานต์" หรือ "หมอเมืองพร้าว" ยุคนี้หาหมอแบบนี้แทบไม่เจอแม้แต่วิญญาณของความเป็นแพทย์ ล่าสุดนี่ก็นักเรียนแพทย์มอมยาเพื่อฆ่าหมาหวังเอาเงินประกัน...สังคมมันวิกฤติวิปริตเข้าไปทุกเมื่อเชื่อวัน นับวันยิ่งหนักข้อ ไม่เว้นแม้แต่พยาบาล พวกๆ ผมรายหนึ่งอธิบายความเป็นมาของคำว่า "พยาบาล" มาจาก "พญามาร" ผสมกับคำว่า "ยมบาล" กระผมเลยเข้าใจน้องสาวผมเป็นอย่างดี

เลยเถิดออกนอกเรื่องไปซะไกล สมัยนั้นการจัดงานรื่นเริงหรืองานมงคลต่างๆ ยังไม่มีโรงแรมหรูรองรับ ภัตตาคารจันทร์เพ็ญโด่งดังขึ้นชื่อเป็นพิเศษ ปัจจุบันขยายกิจการจากสถานที่เดิมออกไปกว้างขวางมีที่จอดรถในซอยสะดวกต่อการมาอุดหนุนและขยายสาขาไปแถบถนนรามอินทราช่วงเลยแยกสวนสยามตรงไปทางมีนบุรีอยู่ทางซ้ายมือ

สีลมภัตตาคารนี่ก็ใช่ อาคารใหญ่โตหลายชั้น มีชั้นดาดฟ้าให้กินลมชมวิวละเลียดอาหารจีน, ไทยและยุโรปครบครัน อาหารถูกปากเอาการ ตอนนี้ก็ยังอยู่ที่เดิม แต่ปิดกิจการไปแล้ว เร็วๆ นี้แวะเวียนผ่านไปว่าจะไปอุดหนุนรำลึกอดีตกันซะกะหน่อย เห็นบรรยากาศเงียบฉี่ไม่มีผู้คนขวักไขว่เช่นสมัยก่อน ด้วยเพราะเนื้อที่และอาคารใหญ่โตเอาการ ว่ากันว่าถ้าเจ้าของประกาศขายที่ดินตรงนั้นปาเข้าไปหลายร้อยล้านเชียวละ ส่วนสาขาที่พึงขยับขยายไปใหม่ก็แถบฝั่งธนแถวๆ ตลิ่งชัน ยังไม่เคยไปลองลิ้มชิมรสซะทีว่ายังเหมือนเดิมหรือเปล่า

ฟูมุ่ยกี่ละแวกสุริวงศ์นี่ก็ร้านเก่าแก่ตั้งแต่สมัยเด็กๆ ไปลองลิ้มอาหารรสชาติจีนสไตล์ยุโรป ปัจจุบันยังเปิดบริการอยู่ บรรยากาศยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงไปมากมาย สังเกตุได้ง่ายจากบรรดาคนเสิร์ฟ (ไม่อยากใช้คำว่า “เด็กเสิร์ฟ” เพราะสูงอายุกันทั้งนั้น) ที่เสิร์ฟอาหารที่ร้านนี้ตั้งแต่ยังเด็กๆ ยันทุกวันนี้ก็ไม่น่าจะน้อยกว่า 40 ปีขึ้นไป

ส่วนร้านอาหารในกรมศุลกากรนอกจากโรงอาหารที่มีให้เลือกมากมายหลายเจ้าแล้ว ร้านที่ยกระดับหรูขึ้นมาหน่อยเจ้าเก่าแก่เปิดมาตั้งแต่สมัยสร้างเสร็จใหม่ที่พากันโยกย้ายมาจากถิ่นเดิมแถบสุริวงศ์ตรงตรอกโรงภาษี มีอยู่ 3 ร้าน แสงจันทร์, อาลิ้มและเพลินใจ ทุกวันนี้ปิดกิจการไปหลายสิบปีแล้ว เพราะตึกทุบทิ้งไปทำอาคารสำนักงานขนาดใหญ่หลายสิบชั้น ส่วนตรงถนนสุนทรโกษาตึกแถวหน้าสนามฟุตบอลล์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ร้านดังๆ ขึ้นชื่อลือชาเห็นจะเป็นร้านก๊วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋นสูตรโบร่ำโบราณ "เฮ้งชุนเส็ง" เยื้องๆ กับร้านก๊วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาแท้อันโอชะ ทุกวันนี้ยังเปิดให้บริการอยู่ คนแน่นเหมือนเดิม

ร้านเก่าแก่หลายร้านปิดกิจการลงไปโดยปริยาย ลูกหลานไม่สืบทอด เรียนจบสูงๆ ไปเป็นหมอเป็นนายพันนายพลกันหลายต่อหลายคน แลหลายคนอพยพไปอยู่เมืองนอกเมืองนาแบบถาวรมีมากมาย จนไปสร้างแหล่งชุมชนคนไทย อาทิ “ตลาดบางรัก” ที่แคลิฟอร์เนีย ก็ไปจากผู้คนรุ่นใหม่จาก “ตลาดบางรัก” ของกรุงสยามเมืองยิ้มกระหยิ่มแกมหยิ่งๆ ยิ้มแบบเท่ห์ๆ มีเล่ห์มีกล แต่ไม่ถึงกับยิ้มสยองสไตล์เซลล์แมนเฉกเช่นวรรณกรรมกะฉ่อนโลก "ความตายของเซลล์แมน" บรรเลงโดย อัลแบร์ กามู ปราชญ์ตัวเอ๋แห่งฝรั่งเศสแนวปรัชญา Existentialism

พูดถึงตลาดบางรักให้นึกถึงร้านนำเข้าอาหารญี่ปุ่นชื่อว่า “สุรเชษฐ์สโตร์” ตั้งชื่อตามชื่อเจ้าของร้าน เป็นเจ้าแรกที่นำเข้าอาหารญี่ปุ่นมาเปิดกิจการในเมืองไทย ตั้งร้านอยู่ด้านข้างตัวตลาดสดของตลาดบางรัก ร้านนี้มี บะหมี่ซองของญี่ปุ่นมาวางขายหลายยี่ห้อ รสชาติอร่อยจนจำขึ้นใจมาถึงทุกวันนี้ สมัยที่ยังไม่มี มาม่า ยำยำและไว ไว ของไทยๆ แท้ๆ แต่เจ้าของกิจการส่วนใหญ่ในไทยเป็นคนจีนและพี่ยุ่นซะมากต่อมาก ไม่ว่าจะเป็น ทรู, ช้าง, 7-11 หรือเซ็นทรัล .โอยยยๆๆๆ นึกชื่อไม่หวาดไม่ไหว ส่วนคนไทยมักจะเป็นลูกจ้างไปซะเกือบหมดประเทศ...รวมไปถึงเรื่องของกิจการรถๆ ราๆ ไม่ว่าจะยี่ห้อไหนๆ หาเจ้าของเป็นคนไทยพันธ์แท้ไม่เจอ

มีอยู่ยุคหนึ่งเกิดแนวคิดจากรัฐบาลหรือผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองนี้ล่ะ ดำริแนวคิดสร้างรถยนต์โดยคนไทย ยี่ห้อไทยๆ ผลิตโดยคนไทยขายคนไทย ตั้งชื่อเสียงเรียงนามกันไว้เสร็จสับเรียบร้อยแล้วให้ชื่อว่า "หนุมาณ" ถ้าสำเร็จจะเป็นยี่ห้อแรกของโลกยนตรกรรมในประวัติศาสตร์เลยเชียวนา ทำเป็นเล่นไป แล้วในที่สุดโปรแจ็คบิ๊กๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์มีอันต้องม้วนเสื่อกลับบ้านเรียบโร้ยโรงเรียนจีนไปโดยปริยายโดยถูกทำแท้งไปซะก่อนจะคลอด ไม่ต่างกับ โครงการ "ที.อี.เธอนอล" โปรโมทกันเต็มสูบจนดำเนินการตั้งโรงงานผลิตเป็นที่เรียบร้อยแถวช่วงบางนา-ปากน้ำ แต่เป็นอันล้มเลิกไปเช่นกัน สมัยโน้นมีการประกาศรับบริจาคคนละ 1 บาทเพื่อโครงการนี้ด้วยนา กระผมโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน กลายเป็นแนวคิดต้นแบบยันมาถึงยุค "โชติช่วงชัชวาล" กลายเป็นวันวานอันขื่นขมไปอีกหลายชั่วโคตรและชั่วนาตาปี

Recent posts

error: Content is protected !!