บ๊อช เชื่อมั่นว่ามีหลายสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อช่วยส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแต่ละปี มีรายงานผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนประมาณ 63,000 รายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ขณะที่องค์การอนามัยโลกเชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจอยู่ที่ราว 117,000 รายต่อปี ซึ่งอาจเกิดจากข้อมูลที่ไม่เที่ยงตรงหรือมีจำนวนอุบัติเหตุที่ไม่ได้บันทึกไว้ ทั้งนี้ พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน มีความแตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรต่อคน สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเสียชีวิตบนท้องถนนน้อยที่สุดในโลก ในขณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในโลกเป็นอันดับสอง รองจากลิเบีย ส่วนฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีการเสียชีวิตบนท้องถนนน้อยเป็นอันดับสองในภูมิภาคนี้ รองจากสิงคโปร์
“เราต้องเร่งหาหนทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จากสาเหตุการเสียชีวิตในกลุ่มคนหนุ่มสาวของภูมิภาคนี้ ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก และทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาลในแต่ละปี” มร. มาร์ติน เฮย์ส ประธานบริหาร บ๊อช ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในคำปราศรัยสำคัญระหว่างการประชุมสุดยอดธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Summit) ที่จัดขึ้น ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อเร็วๆ นี้ “การสูญเสียชีวิตผู้คนมากมาย และความเสียหายต่อทรัพย์สิน รวมถึงชื่อเสียงด้านความปลอดภัย ได้กลายมาเป็นภัยคุกคามต่อความเจริญก้าวหน้าทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน”
ในเดือนพฤศจิกายน 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจากกลุ่มประเทศที่มีข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ ได้ร่วมกันสร้างยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนนในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Road Safety Strategy) ที่ได้เสนอกรอบการทำงานเชิงยุทธศาสตร์และแนวทางปฏิบัติต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดจำนวนการเสียชีวิตบนท้องถนนภายในภูมิภาคนี้ลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2563 นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ยังได้รับการตอบรับจากรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจจากประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงจากคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาอีกด้วย
นับเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว ที่บ๊อชมุ่งมั่นพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้วยวิสัยทัศน์ในการสร้างวิถีการขับขี่ที่ไร้อุบัติเหตุ โดยระบบเบรกป้องกันล้อล็อกหรือระบบเบรก ABS สำหรับรถนั่งส่วนบุคคลตัวแรกของโลกที่พัฒนาโดยบ๊อช ได้กลายมาเป็นเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานในการช่วยป้องกันล้อล็อกเมื่อต้องเบรกกะทันหัน นับตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา
นวัตกรรมนี้ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมพวงมาลัยในสถานการณ์ต่างๆ ขณะขับขี่ได้ และยังช่วยลดระยะในการเบรกโดยป้องกันการลื่นไถลได้ ในปี 2538 บ๊อชได้ปรับปรุงเทคโนโลยีนี้ให้ดียิ่งขึ้น โดยคิดค้นระบบการควบคุมการทรงตัวของรถยนต์ Electronic Stability Program (หรือที่รู้จักกันในชื่อ ESP และ ESC) ตัวแรกของโลกซึ่งในปัจจุบันพบว่า 64% ของรถยนต์รุ่นใหม่ทั่วโลก ได้ติดตั้งระบบ ESP แล้ว โดยเฉพาะในทวีปยุโรป ระบบ ESP สามารถช่วยรักษาชีวิตผู้คนกว่า 8,500 ราย และยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกว่า 250,000 ครั้ง จนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดรถจักรยานยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในภูมิภาคนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งจึงเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ในแต่ละปี เฉพาะในประเทศอินโดนีเซียและไทย มีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุถึง 21,000 ราย เทคโนโลยีที่สำคัญที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์คือระบบเบรก ABS ซึ่งเป็นระบบป้องกันล้อล็อกจากการเบรก ทำให้รถยังคงทรงตัวได้ดีและผู้ขับขี่สามารถโดยสารได้อย่างปลอดภัย ระบบเบรก ABS สำหรับรถจักรยานยนต์ เริ่มใช้ครั้งแรกในปี 2538 โดยสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการล้ม ย่นระยะในการหยุดรถ ลดความเสี่ยงในการชนหรือปะทะกันอย่างเห็นได้ชัด งานวิจัยของบ๊อชคาดคะเนว่า หากรถจักรยานยนต์ทุกคันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ได้รับการติดตั้งระบบเบรก ABS แล้ว จะสามารถช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ลงไปได้ถึง 1 ใน 4 ส่วน
มร. เฮย์ส กล่าวว่า “รัฐบาลคือผู้แสดงบทบาทสำคัญในการส่งเสริมระบบความปลอดภัยต่างๆ เหล่านี้ ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาทั่วโลก ต่างก็ดำเนินมาตรการทางกฎหมาย ในการออกข้อบังคับเกี่ยวกับระบบและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยต่างๆ แทบทั้งสิ้น”