The Man, The Management, The Machines.
เทตซึโอะ ซากิยะ เขียน
ธนิต ธรรมสุคติ แปล จากต้นฉบับ Updated paperback Edition 1987
สงวนลิขสิทธิ์
โซอิจิโร ฮอนด้า
ปูชนียบุคคลที่โลกยานยนต์ต้องจารึก
อัจฉริยบุคคลผู้ก่อตั้ง...และวางรากฐานความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ให้กับ "บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด" เป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับเกียรติยศอันสูงส่ง ให้เป็นสมาชิกทำเนียบ "ปูชนียบุคคลยานยนต์โลก" (AUTOMOTIVE HALL OF FAME) อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ตุลาคม 2532
ในภาวการณ์เช่นนี้ ก็เป็นธรรมดาที่ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นจะตั้งโรงงานของตนขึ้นในยุโรป สหรัฐ และประเทศที่ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นการเปิดทางให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นกลายเป็นบริษัทอเนกชาติไป
ในตอนต้นปี 1982 นิสสันเริ่มสร้างโรงงานผลิตรถบรรทุกขึ้นในรัฐเทนเนสซี่ ในสหรัฐ ร่วมลงทุนกับอัลฟ่า โรเมโอแห่งประเทศอิตาลี และตัดสินใจซื้อหุ้น 36 เปอร์เซ็นต์ของบริษัท มอเตอร์ อิเบริคาแห่งประเทศสเปน บริษัทเยเนอรัล มอเตอร์ ซื้อหุ้น 34.2 เปอร์เซ็นต์ของบริษัท อีซูซุ มอเตอร์ของญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทเป็นผู้ขายเพลาส่งกำลังและอะไหล่อื่น ๆ เพื่อใช้ในรถยนต์ "J" รุ่นต่าง ๆ ของเยเนอรัล มอเตอร์
โรงงานของนิสสันในเทนเนสซี่, สหรัฐ
เยเนอรัล มอเตอร์ยังซื้อหุ้นของบริษัทซูซูกิ มอเตอร์ 5.3 เปอร์เซ็นต์เพื่อที่จะพัฒนา, ผลิตและขายรถยนต์ "S" รุ่นต่าง ๆ ของตนด้วย บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ถือหุ้นบริษัทโตโยต้า โคเกียว (ผู้ผลิตรถยนต์และรถบรรทุกยี่ห้อมาสด้า) อยู่ 25 เปอร์เซ็นต์ และโตโยโคเกียวเป็นผู้ขายเพลาส่งกำลังและอะไหล่อื่น ๆ สำหรับประกอบรถของฟอร์ด ซึ่งทั้งสองบริษัทมีแผนผลิตร่วมกันในญี่ปุ่น
บริษัทไครสเลอร์ซื้อหุ้น 15 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทมิตซูบิชิ แต่เมื่อไครสเลอร์มีปัญหายุ่งยาก ความร่วมมือนี้จึงจำต้องได้รับการพิจารณากันใหม่ และในปี 1981 จึงเป็นที่ตกลงกันว่า
(1) มิตซูบิชิจะผลิตรถยนต์ขนาดเล็กให้แก่ไครสเลอร์ในปี 1982 และหลังจากนั้น
(2) มิตซูบิชิจะจัดหาเครื่องยนต์ให้ไครสเลอร์เพื่อการผลิตรถยนต์ "K" และ
(3) ข้อตกลงการขายซึ่งไครสเลอร์จะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการจัดจำหน่ายรถยนต์ของมิตซูบิชิในสหรัฐนั้น จะมีการแก้ไขเพื่อว่าระหว่างปี 1983 และหลังจากนั้น มิตซูบิชิจะมีข่ายการขายของตนเองในสหรัฐ
ในฤดูใบไม้ผลิปี 1982 มิตซูบิชิเริ่มเจรจากับไครสเลอร์ถึงแผนการร่วมกันผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในสหรัฐเป็นการช่วยเหลือโครงการฟื้นตัวของไครสเลอร์.
ในเดือนมิถุนายน 1980 โตโยต้า มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นเสนอกับบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ว่าควรร่วมมือกันผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในสหรัฐ แม้ว่าการเจรจากันในเรื่องนี้จะดำเนินไปถึงหนึ่งปี ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ทั้งนี้เนื่องจากว่าโตโยต้ากลัวว่าการผูกพันกับฟอร์ดซึ่งอยู่ใน "บัญชีดำ" ของประเทศอาหรับหลายประเทศ เนื่องจากมีโรงงานในอิสราเอลนั้น อาจจะทำให้อาหรับห้ามสินค้าของโตโยต้าเข้าไปขายในประเทศเหล่านั้น.
ในเดือนมีนาคม 1982 โตโยต้าประกาศว่า ได้เริ่มการเจรจากับเยเนอรัล มอเตอร์เกี่ยวกับการร่วมมือผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในสหรัฐ ถึงเดือนวพฤษภาคม ก็มีรายงานว่าทั้งสองได้บรรลุถึงข้อตกลงกันแล้วที่จะผลิตรถยนต์รุ่น "โคโรลลา" ขับเคลื่อนล้อหน้า ใช้เครื่องยนต์ ขนาด 1,600 ซีซี. การผลิตจะเริ่มในปี 1984 โดยจะผลิตปีละ 200,000 คัน.
ปัญหาใหญ่ในการเจรจากันนั้นว่ากันว่าคือรูปแบบของการร่วมมือกันมีรายงานว่าทางโตโยต้ากระตือรือร้นมากที่จะร่วมลงทุนกับเยเนอรัล มอเตอร์ แต่ก็กลัวว่าการร่วมลงทุนระหว่างสองบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทอันดับหนึ่งและสองในอุตสาหกรรมนี้ของโลก อาจจะเป็นการาละเมิดมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติห้ามการผูกขาดของสหรัฐ ซึ่งห้ามการรวม การร่วมลงทุน และการถือหุ้นร่วมกันระหว่างบริษัทที่สามารถลดการแข่งขันได้อย่างมากหรือสามารถผูกขาดตลาด ในขณะที่รัฐบาลเรแกนช่วยฝ่ายเอกชนมากขึ้นและโอนอ่อนในเรื่องการรวมบริษัทและการลงทุนร่วมกันระหว่างผู้ผลิตแลแะผู้จัดจำหน่าย แต่ยังเข้มงวดกับความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายที่่สามารถลดการแข่งขันลงได้.