By : C. Methas - Managing Editor
ในอดีตของชาวมองโกลที่เป็นชนเผ่าเร่ร่อนระหว่างเอเชียและยุโรป ทำให้มองโกลเป็นนักขี่ม้าที่ชำนาญและมีม้าสายพันธ์ดีซึ่งได้รับการสืบทอดมาถึงปัจจุบัน สิ่งที่ชาวมองโกลให้ความเคารพนับถือในอดีตคือ ท้องฟ้าที่ให้แสงสว่าง แม่น้ำที่ไว้เลี้ยงสัตว์ ภูเขาที่ให้ที่หลบภัยเมื่อมีเหตุร้าย
ชาวมองโกลเป็นชนเผ่าร่อนเร่พเนจรใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนหลังอานม้า ตระเวนหาทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในดินแดนต่าง ๆ ทำให้กระทบกระทั่งบาดหมางกับชนเผ่าอื่น จนกระทั่งต้องทำการต่อสู้รบกัน ด้วยเหตุนี้สงครามจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวมองโกลตลอดมา
ยุคสมัยของกาบุลข่าน ปู่ผู้ยิ่งใหญ่ เผ่ามองโกลได้รับความร่มเย็นเป็นสุขในฐานะชาติผู้นำในเขตทะเลทรายโกบีทางเหนือ ในตำนานโบราณเล่าขานกันว่า กาบุลข่านได้เดินทางไปขอบุตรสาวที่เผ่าทะทาเอยเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี แต่หัวหน่าเผ่าทะทาเอยไม่เพียงไม่ให้แล้วยังนำตัวกาบุลข่านส่งไปให้เมืองกิมหรือประเทศจีนประหาร ตั้งแต่นั้นมาเผ่าทะทาเอยจึงมีปัญหากับเผ่ามองโกลและเริ่มทำสงครามต่อกัน
เมื่อเตมูจินเติบโตขึ้น ได้สร้างเผ่ามองโกลขึ้นมาใหม่ การที่เขาสร้างเผ่ามองโกลขึ้นมาใหม่ได้นั้นยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด หลังจากเตมูจินรวบรวมกองกำลังเข้าทำศึกกับชนเผ่าต่าง ๆ และประสบชัยชนะอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปีพ.ศ. 1747 เตมูจินข่านมีอายุได้ 42 ปี ได้ทำศึกกับเผ่าไนแมนส์เป็นครั้งที่ 2 จนเผ่าไนแมนส์พ่ายแพ้ ซึ่งเป็นเผ่าใหญ่อีกเผ่าหนึ่ง หลังจากนั้นเผ่ามองโกลได้โจมตีเผ่าต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้นจนไม่มีเผ่าอื่นใด
ในปี พ.ศ. 1749 เตมูจินข่านได้ตั้งชื่อใหม่เป็น เจงกิสข่าน และได้เปลี่ยนจากเผ่ามองโกลเร่ร่อนมาเป็นอาณาจักรมองโกล มีการกำหนดกฎหมายขึ้น และยังได้คิดอักษรภาษามองโกลขึ้นเป็นของตนเองเป็นครั้งแรก
เนื่องจากชนเผ่าเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างกันทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ การนับถือทางศาสนา ได้ร่วมเป็นพันธมิตรอาศัยกับชนเผ่ามองโกล ปัญหาสำคัญคือทำอย่างไรถึงจะปกครองชนเหล่านี้ให้อยู่ในระเบียบวินัย เพราะเดิมชนเผ่าต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีอิสระปฏิบัติตามกฏของเผ่าตนเอง
เจงกิสข่านได้ตรากฎหมายขึ้นและประกาศใช้เป็นกฎหมายปกครองอาณาจักรมองโกล เรียกว่า กฎหมายแม่บทยัสซาเจงกิสคานิ กฎหมายหลักนี้เขาได้ตราขึ้นโดยผสมผสานกับกฏเกณฑ์ของแต่ละเผ่าที่เคยบัญญัติไว้
จุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อให้คนส่วนใหญ่ดำรงซีวิตอยู่รวมกันอย่างสงบสุข กฎหมายดังกล่าวนอกจากมีผลเกี่ยวกับการปกครองด้านการทหาร ยังมีผลทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่พื้นฐานทั่วไป
เจงกิสข่านได้ขยายอาณาจักรโดยพิชิตอาณาจักรเหลียว อาณาจักรซีเซี่ยและอาณาจักรจิน "หรือเมืองกิม" ปีพ.ศ. 1762 เจงกิสข่านเริ่มยกทัพไปทางตะวันตกถึงเอเชียกลางและยุโรป และได้พิชิตไปทั่วทวีปเอเซีย เอเซียกลางจนถึงทวีปยุโรป ต่อมาปีพ.ศ. 1770 เจงกิสข่านสวรรคตด้วยอาการประชวรระหว่างเดินทัพ ขณะมีพระชนมายุได้ 65 พรรษา สุสานของพระองค์อยู่ที่ใดยังคงเป็นปริศนากระทั่งถึงทุกวันนี้
หลังจากนั้นดินแดนและเมืองต่างๆ ของมุสลิมถูกพวกมองโกลตีรุกครั้งแล้วครั้งเล่าและสถานการณ์ของประเทศมุสลิมในเอเชียตะวันตกมีทีท่าว่าจะเลวร้ายยิ่งขึ้น เพราะพวกมองโกลและพวกคริสเตียนได้รวมกำลังกันเข้ารุมตีมุสลิม ดังจะเห็นได้จากเมื่อตอนที่พวกมองโกลยกทัพมาทำลายเมืองบัฆดาดนั้น กษัตริย์คริสเตียนแห่งจอร์เจีย และอาร์เมเนียมีส่วนร่วมด้วย และในตอนที่กองทัพของพวกเหล่านี้ยกเข้ามาในซีเรียนั้น พวกมองโกลได้เสนอให้พวกครูเสดเป็นพันธมิตรกับตนในการต่อสู้กับมุสลิม
ความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของพวกมองโกลมีปรัชญาการเมืองง่าย ๆ ว่า เพื่อนของตนจะต้องเป็นบริวารของตน และคนที่ไม่ยอมเป็นบริวารคือศัตรู และมองโกลได้เข้าโจมตีปาเลสไตน์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ที่มุสลิมในอาณาเขตนี้ พบว่าได้กลายเป็นคนกลุ่มน้อยที่ถูกปราบปราม จึงคิดต่อต้านพวกมองโกลขึ้นมา
ในทางตะวันตกขณะนั้น อียิปต์มีสภาพคล้ายกับรัฐทหาร ได้กลายเป็นแหล่งลี้ภัยของพวกมุสลิมที่หลบลี้หนีภัยมาจากที่ต่าง ๆ ทั้งนี้รวมทั้งบรรดาหัวหน้าเผ่าต่าง ๆ และบรรดาทหารทั้งหลาย
ขณะทหารจากเมืองต่าง ๆ กำลังทยอยเข้ามาหลบภัยในอียิปต์นั้น พวกมองโกลได้ส่งทูตของตนเข้ามายื่นคำขาดให้ผู้ปกครองอียิปต์ยอมจำนนต่อพวกตน วันรุ่งขึ้น ชาวเมืองไคโรได้เห็นศพคนนำสารของพวกมองโกลถูกแขวนอยู่ 4 มุมเมือง เมื่อพวกซีเรียเห็นก็รู้ทันทีว่าได้ท้าทายพวกมองโกลโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้ว และพวกซีเรียก็รู้ดีว่าพวกตนจะต้องรบกับพวกมองโกลอย่างไม่มีทางเลี่ยงแน่ เพราะถึงจะหนีไปไกลถึงฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก พวกมองโกลก็จะต้องตามไปฆ่าพวกตนเป็นการแก้แค้นแน่นอน ดังนั้พวกซีเรียจึงตัดสินใจที่จะเผชิญหน้ากับพวกมองโกล