By : C. Methas - Managing Editor
หลังจากมีการจัดการแข่งขันแรลลี่ทางไกลข้ามทวีปครั้งแรกของโลกจากกรุงปักกิ่งไปยังกรุงปารีส เมื่อปีค.ศ. 1907 ความท้าทายใหม่ครั้งสำคัญเกี่ยวกับการขับรถยนต์ข้ามทวีปได้เกิดขึ้นในปีต่อมาโดยจัดการแข่งขันแรลลี่ข้ามทวีประยะทางยาวไกลกว่าเริ่มสตาร์ทจากกรุงนิวยอร์คไปยังกรุงปารีสใช้เส้นทางจากกรุงนิวยอร์คข้ามทวีปอเมริกาเหนือไปทางฝั่งตะวันตกแล้วขนส่งรถแข่งลงเรือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิคไปยังประเทศญี่ปุ่นแล้วเข้าสู่รัสเซียจนกระทั่งไปสิ้นสุดการแข่งขันที่กรุงปารีส
การแข่งขันแรลลี่ทางไกลหฤโหดเมื่อครั้งปีค.ศ. 1908 มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางบางส่วนจากเดิมที่จะใช้เส้นทางจากกรุงนิวยอร์คไปยังซีแอตเติ้ลแล้วมุ่งไปยังอะลาสก้า แต่ทางทีมงานช่างเทคนิคได้ไปสำรวจเส้นทางแล้วปรากฏว่ารถยนต์ไม่สามารถขับผ่านไปได้แน่นอน เนื่องจากมีหิมะหนักและเส้นทางเต็มไปด้วยน้ำแข็ง จึงได้ยุติการแข่งขันไปยังเมือง Valdez ที่อะลาสก้าซึ่งจะใช้เรือกลไฟขนส่งรถแข่งและได้มีการเปลี่ยนเส้นทางขนส่งรถลงเรือกลไฟเดินสมุทรข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังเมืองโยโกฮาม่าประเทศญี่ปุ่นแล้วขนส่งโดยเรือเดินสมุทรข้ามไปยังเมือง Vladivostok ในไซบีเรีย
รายการนี้มีรถแข่งเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 6 คัน แบ่งออกเป็น 4 สัญชาติประกอบด้วย เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อิตาลีและสหรัฐฯ รถแข่งยี่ห้อ Protos สำหรับทีมเยอรมนี, Briax-Zust สำหรับทีมจากอิตาลี, รถ 3 คันยี่ห้อ De Dion-Bouton, Motobloc และ Sizaire-Naudin สำหรับทีมจากฝรั่งเศสและ Thomas Flyer ทีมสหรัฐฯ ขับโดย George N. Schuster เป็นผู้คว้าแชมป์ประจำรายการนี้
การแข่งขันเริ่มต้นจากเส้นทางข้ามทวีปอเมริกาเหนือจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกเป็นครั้งแรก ถนนหนทางในการแข่งขันในยุคนั้นส่วนใหญ่ยังไม่มีถนนเช่นเดียวกับทุกทวีปทั่วโลก บ่อยครั้งที่รถแข่งต้องขับไปตามเส้นทางรถไฟ Thomas Flyer นักแข่งชาวอเมริกันขึ้นนำหัวแถวมาตลอดในช่วงออกสตาร์ทจากกรุงนิวยอร์คไปยังซาน ฟราสซิสโก ใช้เวลาในการเดินทาง 41 วัน 8 ชั่วโมงและ 15 นาที เขาได้กลายเป็นนักขับคนแรกที่ขับรถข้ามทวีปอเมริกาเหนือในช่วงฤดูหนาว
ภายหลังการยกเลิกเส้นทางไปแข่งยังอะลาสก้า รถแข่งถูกขนส่งข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังญี่ปุ่นและข้ามทะเลญี่ปุ่นไปยังรัสเซีย ช่วงนี้เป็นการเริ่มต้นการแข่งขันอีกครั้งโดยใช้เส้นทางข้ามทวีปเอเชียและยุโรป ในช่วงนี้มีเพียงรถ 3 คันเท่านั้นที่ผ่านเมือง Vladivostok ไปได้ประกอบด้วย Protos, Zust และ Thomas Flyer ขับโดย George Schuster หลังจากนั้นเส้นทางเพิ่มความหฤโหดหนักกว่าช่วงแรกโดยต้องขับรถผ่านทุ่งราบทุนดร้าแห่งไซบีเรียและแมนจูเรีย
Thomas Flyer มาคว้าแชมป์ในรายการแรลลี่หฤโหดครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ที่โหดกว่าครั้งแรกโดยมาถึงกรุงปารีสเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ปีค.ศ. 1908 ทีมเยอรมนีขับโดย Hans Koeppen มาถึงกรุงปารีสก่อนหน้านี้ 4 วัน แต่ถูกทำโทษปรับเวลารวม 30 วันเนื่องจากไม่ได้เดินทางไปอะลาสก้าและส่วนหนึ่งใช้เส้นทางรถไฟ ส่วนทีมจากอิตาลีตามมาถึงท้ายสุดในเดือนกันยายน ปีค.ศ. 1908
รายการแข่งขันนิวยอร์ค-ปารีส เมื่อปีค.ศ. 1908 รวมระยะทางทั้งสิ้น 22,000 ไมล์ เส้นทางที่นักแข่งต้องขับรถรวม 13,341 ไมล์ การแข่งขันเริ่มออกสตาร์ทกันที่กรุงนิวยอร์คที่ Times Square เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 1908 เวลา 11.15 นาฬิกาด้วยสัญญานยิงปืนสั้นท่ามกลางผู้สนใจราว 250,000 คน
George Schuster ลงแข่งขันให้กับค่าย Thomas Flyer เริ่มเข้าสู่วงการอุตสาหกรรมรถยนต์ครั้งแรกด้วยการเป็นช่างประกอบหม้อน้ำเมื่อเดือนตุลาคม ปีค.ศ. 1902 โดยทำงานให้กับบริษัท E.R. Thomas Motor Company ที่เมือง Buffalo, New York มีความสนใจในการขับรถมากเป็นพิเศษโดยจะทำหน้าที่ขับรถที่สร้างสำเร็จจากโรงงานไปส่งยังลูกค้าอยู่เสมอ ๆ วันที่ 12 ตุลาคม ปีค.ศ. 2010 ได้รับเกียรติ Automotive Hall of Fame